‘ดร.วสันต์’ เผยโอไมครอนพันธุ์ BA.2 อาจแพร่เชื้อได้ 18 คน ยันไทยยังไม่พบเดลตาครอน

385
0
Share:
ดร.วสันต์

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 65 ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ศูนย์จีโนมฯ ได้ถอดรหัสพันธุกรรมจากสิ่งส่งตรวจพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ช่วง ม.ค.-ก.พ.65 จำนวน 192 ตัวอย่าง พบเป็นโอไมครอน BA.1 จำนวน 169 ราย หรือ 88%, BA.1.1 จำนวน 5 ราย หรือ 5%, โอไมครอน BA.2 จำนวน 2 ราย หรือ 1.05%, เดลตา AY 85 จำนวน 14 รายหรือ 7.3% และ อัลฟาจำนวน 2 ราย หรือ 1.04% แต่หากเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำยังพบเป็นเดลตาเกือบ 100%

ขณะที่ฐานข้อมูลกลางโควิดโลกหรือ GISIAD ช่วง 40 วันที่ผ่านมาที่สถาบันการแพทย์ในประเทศไทยถอดรหัสพันธุกรรมและอัปโหลด พบเป็นโอไมครอน BA.1.1 จำนวน 60% ขณะที่ BA.1 หรือสายพันธุ์ดั้งเดิมลดลงเหลือ 19% BA.2 จำนวน 2% เดลตา AY85 จำนวน 14% โดยพบว่า โอไมครอน BA.2 ในไทยขณะนี้มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น

จากข้อมูลที่ติดตามพบ BA.2 มีการกลายพันธ์ุมากที่สุด จึงส่งผลต่อการแพร่ระบาดหรือการติดเชื้อได้ไวที่สุด แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดความรุนแรงของโรคหรือเสียชีวิตต่างจากโอไมครอนหลัก ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ยผู้ป่วย 1 คนจะแพร่เชื้อให้ผู้อื่น โดยสายพันธ์ุอู่ฮั่นอยู่ที่ 2.5, เดลตา 6.5-8 โอมิครอน BA.1 อยู่ที่ 8-15 แต่ BA.2 อาจจะถึง 18 เพราะไวมาก ซึ่งประเทศที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เป็นโอไมครอนมากที่สุดขณะนี้คือ เดนมาร์ก อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ส่วนแอฟริกาใต้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงไปมาก ส่วนอัตราเสียชีวิตจากโอมิครอนก็ต่ำกว่าเดลตา อัลฟาอย่างมาก

สำหรับไทยโอไมครอนเข้ามาประมาณ ก.พ. ทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่อัตราผู้เสียชีวิตน้อยมาก เพราะมีการฉีดวัคซีนมาก แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นขณะนี้มาจาก BA.2 ที่ทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มสัดส่วนมากขึ้น คาดว่าไม่เกินครึ่งเดือนหรือประมาณปลาย ก.พ.ตัวเลขน่าจะลง สำหรับเดลตาครอน ลูกผสมระหว่างโอไมครอนและเดลตา อังกฤษได้ประกาศยืนยันว่าพบเดลตาครอนที่ให้จับตา ไม่มีการระบุจำนวนชัดเจนและน่าจะพบมากกว่า 1 ราย แต่ยังไม่พบความรุนแรงในการก่อโรค หรือหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้มากกว่าโอไมครอน ส่วนไทยยังไม่พบเดลตาครอน