ดอกเบี้ยขาขึ้นฉุดธุรกิจธนาคารไทย รายได้หลักไม่ฟื้นดี รายได้รองหดตัว

339
0
Share:

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า รายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 ปี 65 ยังคงอ่อนแอ โดยเฉพาะรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยซึ่งถูกกดดันจากความเปราะบางของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและผลกระทบจากความผันผวนของตลาดทุนต่อพอร์ตการลงทุน ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ อาจขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยตามการเติบโตของสินเชื่อ นำโดยสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อยที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งส่งผลทำให้อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย หรือ NIM มีแนวโน้มขยับขึ้นมาที่ 2.58% จาก 2.55% ในไตรมาสแรก

นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ยังมีการเข้าดูแลประเด็นคุณภาพสินทรัพย์ในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง โดยการเร่งจัดการปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ การขาย NPLs การตัดหนี้สูญ และการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ ซึ่งส่งผลให้สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) ของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสนี้ทรงตัวอยู่ในกรอบ 2.90-2.93% ต่อสินเชื่อรวม ใกล้เคียงกับไตรมาสแรกซึ่งอยู่ที่ 2.93% อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสัญญาณการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อในพอร์ต SMEs และรายย่อย อาทิ สินเชื่อบ้าน บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งจากภาพรวมรายได้จากการดำเนินงานดังกล่าวข้างต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาสที่ 2 นี้ จะอยู่ที่ระดับประมาณ 4.61 หมื่นล้านบาท ลดลง 19.6% เมื่อเทียบกับฐานที่สูงในไตรมาสที่ 2 ปี 64 ซึ่งมีการบันทึกรายการพิเศษกำไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นในบริษัทย่อยของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง

สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 65 คาดว่าแรงหนุนจากสัญญาณเศรษฐกิจจะช่วยหนุนให้มีการเบิกใช้สินเชื่ออย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง และน่าจะทำให้แรงกดดันต่อรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ในส่วนอื่นๆ คลายตัวลงบางส่วน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับตัวเลขคาดการณ์สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 65 มาที่ 5.0% (กรอบคาดการณ์ใหม่ที่ 4.0-5.5%) จากคาดการณ์เดิมเมื่อเดือน มี.ค. 65 ที่ 4.5% สำหรับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ไทย อาจยังไม่สะท้อนอานิสงส์จากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเต็มที่ เนื่องจากสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงอยู่ในระดับสูง และปัญหาของลูกหนี้อีกหลายกลุ่มที่ยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านและยังไม่ได้รับผลบวกจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่

ดังนั้น จึงอาจทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะแรกของธนาคารพาณิชย์ปรากฏขึ้นในผลิตภัณฑ์สินเชื่อและเงินฝากเพียงบางประเภท สำหรับภาพรวมรายได้จากธุรกิจหลักในช่วงครึ่งหลังของปี 65 นั้น ด้วยข้อจำกัดในการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียม และรายได้จากธุรกิจใหม่ที่ยังต้องใช้เวลา ทำให้คาดว่าภาพรวมของกำไรจากการดำเนินงาน (ก่อนการกันสำรองฯ และภาษีเงินได้) ในปี 65 จะอยู่ในกรอบ 4.01-4.03 แสนล้านบาท ซึ่งยังไม่กลับไปสู่ระดับค่าเฉลี่ยในช่วง 3 ปีก่อนวิกฤตโควิด 19