ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคส.ค.ต่ำสุดรอบ 33 เดือน

838
0
Share:

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ส.ค.62 อยู่ที่ระดับ 73.6 จาก 75.0 ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และต่ำสุดในรอบ 33 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมือง
.
โดยมีปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยตัวเลข GDPไตรมาส 2 ที่ 2.3% เติบโตต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ปี // สภาพัฒน์ปรับลด GDP ปีนี้ลงเหลือเติบโต 2.7-3.2% // ความกังวลเรื่องสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และความกังวลปัญหาภัยแล้งที่จะส่งผลต่อราคาพืชผลทางการเกษตร และรายได้เกษตรที่จะยังอยู่ในระดับต่ำ
.
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน ส.ค.62 ปรับตัวลดลงทุกรายการ เนื่องมาจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางการเมืองเป็นสำคัญ
.
รวมถึงผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหรัฐฯ จะทำสงครามการค้ากับจีนมากขึ้น ตลอดจนราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ ทำให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 4 ซึ่งรัฐบาลควรดำเนินนโยบายการเงินและคลังแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง
.
โดยยังหวังว่าภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปีได้ เนื่องจากเห็นสัญญาณของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เริ่มกลับเข้ามา ประกอบกับเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ของภาครัฐที่จะเริ่มลงไปในระบบเศรษฐกิจทั้งภาคเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย และประชาชนทั่วไปราว 1-1.5 แสนล้านบาท ขณะที่การส่งออกไทยปีนี้คาดว่าจะหดตัวไม่เกิน 1% จะช่วยประคองเศรษฐกิจไทยไม่ให้ปรับตัวลงไปมาก โดยยังคงประเมินว่าปีนี้ GDP จะขยายตัวได้ในระดับ 3-3.2%
.
ส่วนปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เชื่อว่าความเสียหายจะอยู่ที่ 5,000-8,000 ล้านบาท แต่จะไม่ส่งผลกระทบโดยรวมต่อเศรษฐกิจในระดับมหภาค เนื่องจากน้ำท่วมในครั้งนี้ ไม่ได้เกิดในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว หรือเขตอุตสาหกรรมสำคัญ
.
พร้อมมองว่าอัตราเงินเฟ้อจากนี้จนถึงสิ้นปียังอยู่ในระดับต่ำ และต่ำกว่ากรอบเป้าหมายที่ 1-4% ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธปท. ซึ่งน่าจะมีช่องให้ ธปท.จำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีกจากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 1.50%
ส่วนภาวะเงินบาทที่ยังแข็งค่า ธปท.จำเป็นต้องดูแลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และสอดคล้องกับภูมิภาค