ดัชนีเชื่อมั่นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก.ย.เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากปัจจัยหนุน

226
0
Share:
ดัชนีเชื่อมั่นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ก.ย.เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากปัจจัยหนุน

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SME Sentiment Index: SMESI) ประจำเดือนกันยายน 2565 พบว่า ค่าดัชนี SMESI อยู่ที่ระดับ 52.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.2 และเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2

โดยมีปัจจัยบวกมาจากกำลังซื้อในภาคการค้าและภาคการบริการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสาขาการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในเดือนสิงหาคม รวม 18,693,602 คน (ที่มา: กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนมาจากการจัดงานอีเว้นท์และงานประเพณีในแต่ละพื้นที่ที่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ประกอบกับโครงการคนละครึ่งเฟส 5 โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และโครงการเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ มีส่วนกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยด้วยการเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน และเพิ่มยอดขายให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกิจการรายย่อย รวมทั้งกิจการภาคการค้าและภาคบริการ

ส่วนภาคการบริการเพิ่มขึ้น จากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจร้านอาหาร ร้านนวด สปา โรงแรม ที่พัก อีกทั้งหลายประเทศประกาศเปิดประเทศ ช่วยสนับสนุนกิจการบริการด้านการท่องเที่ยว ทำให้มียอดจองเดินทางไปต่างประเทศมากขึ้น ขณะที่ภาคการก่อสร้าง ยังขยายตัวต่อเนื่องจากการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ

ขณะที่ภาคการเกษตร มีผลมาจากความต้องการผลผลิตทางการเกษตรสูง เนื่องจากเริ่มช่วงเทศกาลกินเจ ประกอบกับผลผลิตไม่เพียงพอในตลาดทำให้ขายได้ราคาสูงโดยเฉพาะผักกาด ผักชี หอมแดง หอมแขก เป็นต้น ในส่วนภาคการผลิต ชะลอตัวโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจผลิตยารักษาโรคและอัญมณี เนื่องจากผู้บริโภคลดการกักตุนยา และชะลอการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 54.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.6 จากมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และคาดการณ์ยอดขายและการใช้บริการจะสูงในช่วงปลายปีเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่

ทั้งนี้ จากการสอบถามธุรกิจ SME กับสถานการณ์และความต้องการช่วยเหลือด้านหนี้สินของธุรกิจ พบว่า ผู้ประกอบการ SME กว่า 50% ไม่มีภาระหนี้สิน ส่วน 48.2% มีภาระหนี้ ซึ่งกลุ่มธุรกิจขนาด กลางมีสัดส่วนภาระหนี้สินสูงสุด แหล่งเงินกู้ยืมที่ใช้จ่ายในกิจการ 75.5% มาจากสถานบันการเงิน โดยอยู่ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์มากที่สุด และส่วนใหญ่กู้ยืมเพื่อลงทุนในกิจการ ขณะที่ผู้ประกอบการที่กู้ยืมนอกระบบ ส่วนใหญ่กู้ยืมจากเพื่อน/ญาติพี่น้องและนายทุนเงินกู้ เพื่อนำไปใช้เป็นเงินหมุนเวียนและการซ่อมแซมขนาดเล็กที่ใช้จำนวนเงินไม่มากนัก โดยผู้ประกอบการ SME กว่า 70% ยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้จนครบสัญญา แต่ยังมีผู้ประกอบการเกือบ 30% ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งอยู่ในธุรกิจภาคการเกษตรและภาคการค้ามากที่สุด ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะสามารถชำระหนี้ได้ไม่เกิน 6 เดือนหากภาวะเศรษฐกิจปรับตัวในทิศทางที่แย่ลง

อย่างไรก็ตาม จากการประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร ผู้ประกอบการ SME ประเมินว่าภาระค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้น 1-20% และจะส่งผลกระทบทางลบต่อธุรกิจในระดับปานกลาง (21-40%) โดยขนาดธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นจะได้รับผลกระทบที่มากขึ้น และกว่า 80% มีแผนรับมือต่อภาวะค่าใช้จ่ายด้านหนี้สินที่จะเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม 50% ใช้วิธีการลดการลงทุนและค่าใช้จ่ายเป็นหลัก ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการจัดการภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น

ซึ่งสิ่งที่ SME ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุด คิดเป็น 33.1% คือ การพักชำระหนี้ (ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย) รองลงมาคือ ลดอัตราดอกเบี้ย คิดเป็น 20.5% และขยายระยะเวลาชำระหนี้ คิดเป็น 17.1% ตามลำดับ ส่วนผู้ประกอบการ SME ที่ไม่มีภาระหนี้สิน 24.4% มีแผนการกู้ยืมเงินในระบบสถาบันการเงินในอนาคต เพื่อใช้เป็นเงินหมุนเวียนในกิจการ โดยสิ่งที่ SME ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุด คือ การจัดหาแหล่งเงินทุน/ รูปแบบสินเชื่อที่ตรงตามลักษณะธุรกิจ รองลงมา คือ การงด/ลดค่าธรรมเนียมในการยื่นขอสินเชื่อ โดยปัจจัยด้านต้นทุนในการดำเนินกิจการ โดยเฉพาะในธุรกิจภาคการผลิต ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อการดำเนินธุรกิจ