ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้า ต.ค. ลดครั้งแรกในรอบ 17 เดือน จากความกังวลเศรษฐกิจในอนาคต

341
0
Share:
ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ต.ค. ลดครั้งแรกในรอบ 17 เดือน จากความกังวลเศรษฐกิจในอนาคต

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือนต.ค. 66 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 24-31 ต.ค. 66 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 55.4 ลดลงจากระดับ 56.2 ในเดือน ก.ย. 66 ซึ่งเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 17 เดือน

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 17 เดือน นับตั้งแต่ มิ.ย.65 เนื่องจากนักธุรกิจในแต่ละภูมิภาคมีความกังวลต่อสถานการณ์สงครามในอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ซึ่งหากยืดเยื้อจะส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจในอนาคต ขณะเดียวกันยังกังวลต่อปัญหาภัยแล้ง ที่จะกระทบต่อการทำเกษตรกรรมในแต่ละพื้นที่ รวมถึงแนวโน้มการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่อาจจะเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนของภาคธุรกิจ ท่ามกลางทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น รวมทั้งมองว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลยังมีน้อยเกินไป ทำให้ไม่สามารถเห็นภาพการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ชัดเจน ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจในอนาคตอยู่ในภาวะที่ซึมตัวได้ อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจมองว่าเศรษฐกิจในระดับจังหวัดฟื้นตัวแล้ว และดีขึ้นอยู่ในระดับที่รับได้

โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้
* กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 54.9 ลดลงจากเดือนก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 55.5
* ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 55.6 ลดลงจากเดือนก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 56.5
* ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 58.1 ลดลงจากเดือนก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 58.8
* ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 54.4 ลดลงจากเดือนก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 55.2
* ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 55.1 ลดลงจากเดือนก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 56.0
* ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 54.3 ลดลงจากเดือนก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 55.0
ปัจจัยลบ ได้แก่
1. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณเศรษฐกิจไทยปี 66 เหลือโต 2.7% จากเดิมคาด 3.5% เป็นผลจากการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
2. ความกังวลต่อสถานการณ์สู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ซึ่งอาจยืดเยื้อแลส่งผลให้ราคาพลังงานโลกทรงตัวสูง
3. ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
4. ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว เช่น เศรษฐกิจสหรัฐ จีน และยุโรป
5. เงินบาท ณ สิ้นเดือนต.ค.66 อ่อนค่าเล็กน้อย จากสิ้นเดือนก.ย.66 สะท้อนว่ามีการไหลออกสุทธิของเงินตราต่างประเทศ
6. ความกังวลในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล เช่น แนวโน้มการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ที่จะกระทบต่อต้นทุนธุรกิจ
7. ความกังวลต่อภาวะเอลนีโญ และภัยแล้ง ที่จะส่งผลกระทบระยะยาวต่อการใช้น้ำในภาคเกษตร และการอุปโภค-บริโภค

ปัจจัยบวก ได้แก่
1. การดำเนินนโยบายภาครัฐ ผ่านมาตรการลดค่าครองชีพ เช่น ค่าไฟฟ้า น้ำมัน ตลอดจนฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยว
2. นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากขึ้น หลังการเปิดประเทศ เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศเพิ่มขึ้น
3. การส่งอกไทยเดือนก.ย.66 เพิ่มขึ้น 2.1% มูลค่า 25,476 ล้านดอลลาร์
4. ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง
5. ธุรกิจเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและบริการมีแนวโน้มฟื้นตัว สามารถขยายการลงทุน การจ้างงาน รองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวในช่วงปลายปี
6. ราคาพืชผลเกษตรหลายรายการทรงตัวในระดับสูง ทำให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น ช่วยเพิ่มกำลังซื้อในระดับภูมิภาคให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจได้เสนอแนะแนวทางต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหา อาทิ มาตรการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และจัดสรรน้ำอย่างเหมาะสมยั่งยืน รองรับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง การดูแลช่วยเหลือด้านราคาสินค้าเกษตร ตลอดจนผลผลิตทางการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ขยายตลาดใหม่ เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกของไทย และหามาตรการกระตุ้นการส่งออกให้เพิ่มขึ้น ดูแลต้นทุนการดำเนินงานของภาคธุรกิจ เช่น ต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนการเงิน เป็นต้น