ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมทรุด 10 เดือนติด สารพัดปัจจัยเสี่ยงฉุดจี้ตั้งรัฐบาลเร็วที่สุด

180
0
Share:
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ทรุด 10 เดือนติด สารพัดปัจจัยเสี่ยงฉุดจี้ตั้งรัฐบาลเร็วที่สุด

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 92.3 ปรับตัวลดลงจาก 94.1 ในเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา โดยถือว่าดัชนีอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือน เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบว่าปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ เนื่องจากภาคการผลิตและอุปสงค์สินค้าชะลอตัวลงจากเดือนมิถุนายน

โดยมีปัจจัยเสี่ยงในประเทศมาจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้กำลังซื้อของครัวเรือนอ่อนแอลง ความต้องการบริโภคสินค้าอุตสาหกรรมลดลง และอัตราดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาขึ้น ทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองยังมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนด้วย

“ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.2 ปรับตัวลดลง จาก 102.1 ในเดือนมิถุนายน เนื่องจากผู้ประกอบการกังวลต่อความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณภาครัฐ ตลอดจนขาดความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาทิ ราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้าและค่าจ้างแรงงาน เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจการ ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบางจากอุปสงค์ในตลาดโลกลดลง ทำให้การส่งออกส่งสัญญาณชะลอตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 ขณะที่เศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด” นายเกรียงไกร กล่าว

สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ มี 4 เรื่อง ได้แก่

1. เร่งจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วและออกนโยบายฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ โดยเน้นย้ำว่าการช่วยลดภาระของประชาชนถือเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วนมากที่สุด

2. เร่งออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากภาระต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินและลดความเสี่ยงการเป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ซึ่งภาระที่เพิ่มขึ้น ทำให้เห็นการยึดรถยนต์ส่วนบุคคลมากเป็นประวัติการณ์ รวมถึงยังเห็นผลกระทบของการผ่อนบ้านที่อาจเริ่มไม่ไหวกันแล้ว

3. ขอให้ใช้กลไกของทูตพาณิชย์ในการเจรจาเร่งจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟไอเอ) และลดปัญหาทั้งอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTBs) และมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี(Non-Tariff Measures: NTMs) รวมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าแบบมุ่งเป้าไปยังกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพ อาทิ ตะวันออกกลาง 6 ประเทศ (จีซีซี) ซาอุ ละตินอเมริกา เอเชียใต้ และอินเดีย ถือเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมาก เพื่อขยายตลาดการค้าและขยายฐานการส่งออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากกลุ่มที่เป็นประเทศฐานลูกค้าของไทยในปัจจุบันไม่ดีหมด อยู่ในภาวะเปราะบาง จึงจะเป็นต้องรีบเร่งในการหาตลาดใหม่

และ 4. ขอให้ภาครัฐเร่งดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะโครงการลงทุนต่างๆ ที่ยังค้างท่อ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะปีนี้การส่งออกคงไม่ได้ดีมากนัก แม้มีภาคการท่องเที่ยวเข้ามาช่วยขับเคลื่อนให้เดินหน้าไปได้