ตลาดคลังสินค้าในไทยเติบโตสดใส ในอีก 3 ปี ต้องการพื้นที่เพิ่มเกือบ 2 ล้านตารางเมตร

650
0
Share:

นายเจเรมี่ โอซุลลิแวน ผู้อำนวยการ หัวหน้าฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษา เจแอลแอล กล่าวว่า ภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง โดย JLL คาดการณ์ว่า ด้วยมูลค่ายอดขายรวม (GMV) ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซทุกๆ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จะทำให้มีความต้องการเช่าพื้นที่คลังสินค้าเพิ่มขึ้น 120,000 ตารางเมตร ซึ่งอาจทำให้มีความต้องการใช้พื้นที่คลังสินค้าระดับพรีเมียมเพิ่มเติมอีก 1.7 ล้านตารางเมตรภายในปีพ.ศ. 2568 บ่งชี้ถึงโอกาสครั้งสำคัญของนักลงทุนและผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์

REDPAPER รายงานข้อมูลและเทรนด์ด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสนับสนุนการจัดทำโดย บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ FPT ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล (JLL) พบว่า การเติบโตของภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอาหาร-เครื่องดื่ม เป็นปัจจัยที่ดึงดูดให้กลุ่มนักลงทุนบริษัทข้ามชาติ และผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ยุคใหม่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ส่งผลให้ความต้องการพื้นที่คลังสินค้าระดับพรีเมียมเติบโตมากถึง 42.1 % ในปี 2564

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาตลาดคลังสินค้ามีการเติบโตสูงขึ้นอย่างมาก จากดีมานด์ของกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซและผู้ประกอบการโลจิสติกส์ (3PL) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นอานิสงส์ให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และส่งผลให้ความต้องการคลังสินค้าเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับผู้ประกอบการในปัจจุบันเริ่มให้ความสำคัญกับการบริหารห่วงโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีความต้องการใช้บริการจากผู้ประกอบการโลจิสติกส์ (3PL) ที่มีความชำนาญงานด้านการจัดเก็บและบริหารสินค้า รวมถึงกิจกรรมการขนส่งและกระจายสินค้า เป็นต้น

ส่วนสามจังหวัดในอีอีซี ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง ล้วนเป็นที่ตั้งสำคัญของแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และเป็นศูนย์กลางของภาคโลจิสติกส์ เพื่อการนำเข้าและส่งออก โดยเฉพาะผ่านท่าเรือน้ำลึก ประกอบกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมในพื้นที่ ทำให้สามารถดึงดูดผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีความต้องการใช้พื้นที่โลจิสติกส์คลังสินค้าอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ จังหวัดในภาคกลางดังเช่น พระนครอยุธยา ได้เริ่มกลับมาเป็นหนึ่งในทำเลยุทธศาสตร์ที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจโลจิสติกส์และการกระจายสินค้า สำหรับกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม อิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่ม FMCG (Fast Moving Consumer Goods ) แม้จะเคยผ่านเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ แต่ปัจจุบันพื้นที่นี้ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้า เนื่องด้วยมีความเชื่อมั่นในมาตรฐานการพัฒนาโครงการและมาตรการป้องกันอุทกภัยที่ผู้พัฒนาโครงการโลจิสติกส์ พาร์ค และนิคมอุตสหากรรมในจังหวัดดังกล่าวได้พัฒนาและปรับปรุงเป็นอย่างดีแล้ว