ตลาดหลักทรัพย์เล็งปรับเกณฑ์ คัดเลือกหุ้นเข้าดัชนี SET50 SET100 ประกาศผลเดือน ธ.ค.65

226
0
Share:
ตลาดหลักทรัพย์ เล็งปรับเกณฑ์ คัดเลือก หุ้น เข้าดัชนี SET50 SET100 ประกาศผลเดือน ธ.ค.65

ผู้สื่อข่าวรายงานข้อสรุปการรับฟังความคิดเห็นและการดำเนินการของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เกี่ยวกับการใช้เกณฑ์คัดเลือกหุ้นเข้าดัชนี SET50 และดัชนี SET100 โดยลดอัตราส่วน Turnover Ratio หรือปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อเดือนลงจาก 5% เหลือ 2% ของจำนวนหุ้นจดทะเบียน โดยเริ่มใช้ในการคัดเลือกหุ้นรอบปลายปี 2565 ซึ่งจะประกาศผลการคัดเลือกในช่วงเดือน ธ.ค.65 และใช้ในการคำนวณดัชนีช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย.66 เป็นต้นไป

สำหรับปัจจุบันเกณฑ์การคัดเลือกดัชนี SET50 และดัชนี SET100 มีเกณฑ์การคัดเลือกที่ประกอบด้วยทั้งเกณฑ์เชิงคุณภาพ (Quantitative) เช่น ไม่เข้าข่ายถูกเพิกถอน ไม่ถูกสั่งพักการซื้อขาย หรือมีปัญหาด้านงบการเงิน และเกณฑ์ด้านปริมาณ (Quantitative) ได้แก่ Market Capitalization, Free Float, Trading Value และ Turnover ratio เป็นต้น

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาพบว่าสภาวะการซื้อขายของตลาดมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยรวมแล้วผู้ลงทุนทุกกลุ่มเปลี่ยนแปลงการลงทุนจากที่เน้นลงทุนในกลุ่มหุ้นในดัชนี SET50 มีกระจายการลงทุนในหุ้นที่มีขนาดเล็กลงในกลุ่ม NonSET100 เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลทำให้อัตราส่วนจำนวนหุ้นที่มีการซื้อขาย (Turnover ratio) ของหุ้นขนาดใหญ่ 10 อันดับแรกในดัชนี SET50 (Top10) อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มอื่น ๆ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม SET51-100 และหุ้นขนาดใหญ่ 10 อันดับแรกในดัชนี SET50 (Top10) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่สำคัญในการ Represent ตลาดหุ้นไทยมีระดับ Turnover Ratio ลดลงจากที่ 4-5% มาอยู่ที่ 1-2%

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบเกณฑ์ Liquidity criteria ของดัชนี SET50 / SET100 เทียบกับดัชนีในต่างประเทศพบว่า ดัชนีในต่างประเทศส่วนใหญ่จะกำหนดเกณฑ์ Liquidity โดยใช้ Turnover ratio เช่นเดียวกับดัชนี SET50 / SET100 แต่จะกำหนดระดับขั้นต่ำที่ประมาณ 1-2%

สำหรับแนวทางการปรับปรุง Turnover Ratio ที่ใช้ในการพิจารณาคัดเลือกดัชนี SET50 และ SET100 โดยมีสาระสำคัญดังนี้
ข้อเสนอการปรับปรุง
*ปรับระดับ Turnover ratio ที่ใช้ในการคัดเลือกหุ้นในดัชนี SET50 และดัชนี SET100 ให้สอดคล้องกับสภาพการซื้อขายที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนี้
– ใช้หลักเกณฑ์และแนวทางในปัจจุบัน โดยปรับลดระดับ Turnover ratio เริ่มต้นจากเดิมที่ 5% เป็น 2%
– พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดทำดัชนี และจะเริ่มใช้ในรอบคัดเลือก ธ.ค.65

ผู้ให้ความเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยในหลักการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เสนอ โดยให้เหตุผลสรุปได้ดังนี้
*การปรับลด Turnover Ratio สอดคล้องกับสภาพตลาดที่เปลี่ยนไป และสอดคล้องกับเกณฑ์ของดัชนีต่างประเทศ
*การปรับลด Turnover ratio จะช่วยให้หุ้นขนาดใหญ่ซึ่งเป็นฐานโครงสร้างของตลาดหุ้นไทยมีโอกาสคงอยู่ในดัชนี ขณะที่เกณฑ์การคัดเลือกอื่น ๆ มีความเหมาะสมอยู่แล้ว
*การปรับลด Turnover ratio จะช่วยให้เกิดเสถียรภาพในระยะยาวของดัชนีมีผลทำให้การเคลื่อนไหวของดัชนีมีเสถียรภาพมากขึ้น และสอดคล้องกับมาตรฐานในต่างประเทศ
*แนวทางดังกล่าวสามารถช่วยลดความผันผวนของตลาดลงบางส่วนจากหุ้นขนาดเล็กที่มีการซื้อขายสูง

ทั้งนี้ผู้ตอบแบบสอบถามได้ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้
– ควรกำหนด Turnover ratio ขั้นต่ำ 1% ให้สอดคล้องกับเกณฑ์ของดัชนีต่างประเทศ
– ควรพิจารณาแนวทางการใช้ free float adjusted ในการคำนวณน้ำหนักหุ้นในดัชนีโดย free float ที่ใช้คำนวณควรเป็น free float ที่สามารถสะท้อนการกระจายการถือครองของผู้ลงทุนจริง เพื่อให้ดัชนีสามารถสะท้อนการเคลื่อนไหวของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้จริง
– ควรเพิ่มเกณฑ์สัดส่วนการถือครองหุ้นของผู้ลงทุนต่างชาติเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือก และคำนวณน้ำหนักหุ้นในดัชนีด้วย โดยให้น้ำหนักในดัชนีน้อยสำหรับหุ้นที่มีผู้ลงทุนต่างชาติถือครองมาก เพื่อสะท้อนสัดส่วนของหุ้นไทยที่ผู้ลงทุนสถาบันสามารถลงทุนได้
– การคัดเลือกหลักทรัพย์เข้าออกของดัชนี ควรยึดตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยหลีกเลี่ยงการใช้ดุลยพินิจ

อย่างไรก็ตาม ความเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะนำไปศึกษาและพิจารณาความเหมาะสมในการปรับปรุงหลักเกณฑ์การคัดเลือกดัชนีต่อไป และหากมีข้อเสนอที่เกี่ยวกับดัชนี ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะหารือผู้เกี่ยวข้องและเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนการปรับปรุงใดๆ

ทั้งนี้บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า ประเด็นนี้ทำให้หุ้นขนาดใหญ่ที่อาจมี Turnover ratio ไม่สูงและหลุดจากการคำนวณรอบก่อนๆ มีโอกาสเข้าคำนวณ