ตลาดเงินรอปัจจัยใหม่ เงินบาทแข็งค่าเล็กน้อย จากดอลลาร์อ่อน-แรงเก็งกำไรเยนญี่ปุ่น

227
0
Share:
ตลาดเงินรอปัจจัยใหม่ เงินบาท แข็งค่าเล็กน้อย จากดอลลาร์อ่อน-แรงเก็งกำไรเยนญี่ปุ่น

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 36.13 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 36.16 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเงินภูมิภาค ขณะที่ดอลลาร์เคลื่อนไหวแบบผสม เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลัก โดยวันนี้จะมีการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ส่วนดัชนีเศรษฐกิจสำคัญจะออกมาในสัปดาห์หน้า

ขณะที่ปัจจัยในประเทศดีขึ้น หลังนายกรัฐมนตรีออกมาปฏิเสธกระแสข่าวการปลดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงความเห็นเกี่ยวกับสภาพคล่องในประเทศที่มีเพียงพอต่อการออกพันธบัตร

“วันนี้บาทน่าจะพักฐานรอปัจจัยใหม่ หลังปรับตัวอ่อนค่ามามากแล้ว” นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 36.00 – 36.25 บาท/ดอลลาร์

ด้านนายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้ที่ระดับ 36.11 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับ ปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.16 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.00-36.35 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน (แกว่งตัวในช่วง 36.10-36.28 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าต่อเนื่อง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการย่อตัวลงของราคาทองคำ หลังธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25% กดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อ่อนค่าลงหนัก

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาทยอยแข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD และการปรับสถานะเก็งกำไรเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันศุกร์นี้

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่าโมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ อย่างไรก็ดีการอ่อนค่าของเงินบาทยังคงจำกัดอยู่ในโซนแนวต้าน 36.30-36.40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเรายังคงเห็นการขายทำกำไรสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) อย่างต่อเนื่อง ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน

นอกจากนี้ การกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยบ้างของนักลงทุนต่างชาติในวันก่อนหน้า รวมถึงการย่อตัวลงของราคาน้ำมันดิบก็มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท

ทั้งนี้ เรามองว่าเงินบาทอาจยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ชัดเจน จนกว่าจะเห็นปัจจัยที่สามารถกดดันให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้ ซึ่งกรณีที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่าได้ชัดเจน ควรเห็นทั้งการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ โดยเรามองว่าภาพดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน ทำให้ตลาดเริ่มไม่เชื่อใน Dot Plot ใหม่ของเฟด

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนของตลาดค่าเงินในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม BOJ (ในช่วงราว 10.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย และช่วงการแถลงต่อสื่อมวลชนของผู้ว่าฯ BOJ ในช่วง 13.30 น.) เพราะหาก BOJ มีการส่งสัญญาณพร้อมปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดมากขึ้น (หรือมีความ hawkish มากขึ้น) ก็อาจหนุนให้ ค่าเงินเยนญี่ปุ่นพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ซึ่งอาจกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี ท่าทีดังกล่าวก็สามารถหนุนให้บอนด์ยีลด์ทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งก็ไม่เป็นผลดีต่อราคาทองคำ และหากราคาทองคำย่อตัวลงก็สามารถกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวได้เช่นกัน ทำให้ค่าเงินบาทอาจผันผวนได้พอสมควรในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม BOJ