ตะลึงคนญี่ปุ่นยืดเปลี่ยนรถ-มือถือ-ตู้ซักผ้า ใช้ยาวนานขึ้นเกือบ 10 ปีเป็นประวัติการณ์

452
0
Share:
ตะลึง คน ญี่ปุ่น ยืดเปลี่ยนรถ-มือถือ-ตู้ซักผ้า ใช้ยาวนานขึ้นเกือบ 10 ปีเป็นประวัติการณ์

นิเคอิ เปิดเผยผลวิจัยข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นโดยเฉพาะระยะเวลาหรืออายุในการใช้งานสินค้าคงทน หรือ Durable Goods จำนวน 11 รายการหลักในการใช้ชีวิตของชาวญี่ปุ่นในปีปัจจุบัน โดยเปรียบเทียบกับข้อมูลประเภทเดียวกันย้อนหลังไปในปี 2005 พบว่า ข้อมูลสิ้นสุดเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นใช้งานสินค้าในกลุ่มดังกล่าวยืดออกไปอีกเป็นเฉลี่ย 9.2 ปี จึงเปลี่ยนซื้อสินค้าใหม่ ไม่เพียงทำลายสถิติสูงเป็นประวัติการณ์เดิมในมีนาคมปี 2005 ที่ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นใช้เวลาเฉลี่ย 6.7 ปีถึงจะเปลี่ยนซื้อสินค้าตัวใหม่ แต่ยังส่งผลสร้างสถิติการใช้งานสินค้าที่ยาวนานเกือบ 1 ทศวรรษ และสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่

พฤติกรรมดังกล่าวยังทำให้การใช้สินค้าในกลุ่ม 11 รายการสินค้าคงทนในชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่นมีการยืดเวลาเพิ่มสูงขึ้นถึง 40% ในช่วง 18 ปีผ่านมาด้วย สำหรับข้อมูลดั้งเดิมเป็นผลการสำรวจจากสำนักนายกรัฐมนตรีในหัวข้อความเชื่อมั่นผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น

ในรายละเอียดพบว่า ระยะเวลาการใช้งานโดยเฉลี่ยในกลุ่มสินค้าคงทน 11 รายการ ประกอบด้วยกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ได้แก่ เครื่องซักผ้าใช้งานยาวนานเพิ่มขึ้นจากเดิมเฉลี่ย 9.3 ปี เป็น 11 ปี จากการสำรวจราคาขายปลีกเครื่องซักผ้าสินค้าใหม่ตามห้างสรรพสินค้าในญี่ปุ่น พบว่ามีราคาขายตั้งแต่ 200,000 ถึง 300,000 เยน หรือตั้งแต่ 50,000 ถึง 75,000 บาท ที่สำคัญมีราคาปรับสูงขึ้นถึง 60%

สอดรับกับราคาขายปลีกตู้เย็นใหม่ พบว่าในเดือนตุลาคมปี 2023 นี้ มีราคาขาย 220,000 เยน หรือราว 55,000 บาทขึ้นไป นับเป็นราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นถึง 70% เมื่อเทียบกับราคาขายในเดือนตุลาคมปี 2005 ในขณะที่ราคาขายรถยนต์ประเภทซับคอมแพคท์ หรือขนาดเล็ก มีการปรับราคาขายขึ้น 30% มาอยู่ที่เฉลี่ยคันละ 2.23 ล้านเยน หรือ 557,500 บาท

คนญี่ปุ่นใช้งานโทรศัพท์มือถือจนกระทั่งเปลี่ยนซื้อเครื่องใหม่กินเวลานานขึ้นเป็น 4.4 ปี จากเดิมใช้งานเพียง 2.4 ปี หรือยืดอายุใช้งานเพิ่มขึ้น 100% ในขณะที่ คนญี่ปุ่นใช้รถยนต์ที่ซื้อมายาวนานขึ้นจากเดิมที่ 6.7 ปี เป็น 9.1 ปีถึงจะเปลี่ยนไปซื้อรถยนต์คันใหม่

นางมาซาฮิโกะ อิชิโน่ นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยโตเกียว โทไค เปิดเผยว่า ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นเผชิญกับราคาสินค้าแพงต่อเนื่อง เป็นผลจากผู้ผลิตสินค้าคงทนดังกล่าวมีต้นทุนสูงขึ้นมากจากราคาวัตถุดิบ และภาวะขาดแคลนชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ ที่มีราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อไปเป็นการเลือกซื้อเฉพาะเจาะจงมากขึ้นในกลุ่มสินค้าคงทนทั้ง 11 รายการ สิ่งสำคัญ คือตัดและควบคุมการใช้จ่ายซื้อสินค้าที่มีราคาแพงออกไป และเน้นการซื้อสินค้าที่ช่วยประหยัดรายจ่ายแม้จะมีความซับซ้อนของเทคโนโลยีมากขึ้น เช่น การติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าใช้ในบ้าน

สำหรับในกลุ่มสินค้าประเภทแกดเจ็ด (Gadget) หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ เครื่องคอมพิวเตอร์แลปท็อป ซึ่งอยู่ในกลุ่มสินค้าคงทน 11 รายการ พบว่า จำนวนผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าเหล่านี้อย่างรวดเร็วหลังสินค้าวางตลาดนั้น หรือเปลี่ยนซื้อสินค้าตัวใหม่เพราะต้องการใช้เทคโนโลยีในรุ่นใหม่ ลดลงอย่างมากจากเดิมที่ 45% ในปี 2005 มาเหลือที่ 29.9% ในปีนี้

การสำรวจจากสำนักนายกรัฐมนตรีในหัวข้อความเชื่อมั่นผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น ยังพบอึกว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นในภาพรวมตกต่ำลงมาก เมื่อเดือนตุลาคมปีนี้ผ่านมา ดัชนีความตั้งใจซื้อสินค้าคงทนตกต่ำลงมากถึง 20.1% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมในปี 2005