ตัวเลขส่งออกจีน ก.ค. ทรุดแรงต่ำสุดในรอบ 3 ปี เซ่นพิษอุปสงค์โลกซบเซา เงินเฟ้อพุ่งกดดัน

153
0
Share:
ตัวเลข ส่งออก จีน ก.ค. ทรุดแรงต่ำสุดในรอบ 3 ปี เซ่นพิษอุปสงค์โลกซบเซา เงินเฟ้อพุ่งกดดัน

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน โดยอ้างอิงสถิติทางการของจีนว่า ยอดการส่งออกเดือนกรกฎาคมของจีนปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2020 ในขณะที่ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกนี้ดิ้นรนที่จะรับมือกับเศรษฐกิจที่ซบเซาตัวทั้งภายในประเทศและในระดับโลก

โดยข้อมูลจากหน่วยงานศุลกากรของจีนเผยว่า ยอดขายสินค้าจีนไปยังตลาดต่างประเทศในเดือนที่แล้วหดตัวลง 14.5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการลดลงครั้งที่ 3 ติดต่อกัน อีกทั้งตัวเลขดังกล่าวยังมากกว่าที่คาดไว้และรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี 2020 ซึ่งมียอดการส่งออกลดลง 17.2% ใน เนื่องจากเศรษฐกิจหยุดชะงักในช่วงสัปดาห์แรกเริ่มของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่สถิติการส่งออกประจำเดือนมิถุนายนก็ลดลงเช่นกันที่ 12.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

แม้ว่าจะมีการฟื้นตัวในช่วงสั้นๆ เมื่อเดือนมีนาคมและเมษายนที่ผ่านมา แต่ภาพรวมการส่งออกของจีนยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2022 โดยมีความวิตกกังวลในเรื่องเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ประกอบกับภาวะอัตราเงินเฟ้อสูง เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อุปสงค์ต่อผลิตภัณฑ์ของจีนในตลาดโลกอ่อนตัวในช่วงเดือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การส่งออกไปยังสหภาพยุโรปในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2023 อยู่ที่ 2.08 ล้านล้านหยวน หรือกว่า 10 ล้านล้านบาท ลดลง 2.6% ขณะที่การนำเข้าในเดือนกรกฎาคมก็ลดลงเป็นเดือนที่เก้าติดต่อกัน โดยหดตัว 12.4% ซึ่งเป็นสัญญาณของอุปสงค์ในประเทศที่ซบเซา

นอกจากนี้เศรษฐกิจจีนยังขยายตัวเพียง 0.8% ในไตรมาสที่ 2 ช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ในขณะที่อัตราการว่างงานของเยาวชนพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่มากกว่า 20% ส่วนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมประจำเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ 49.3 ต่ำกว่าตัวเลขเกณฑ์ 50 ที่แบ่งระหว่างการขยายตัวและการหดตัว

เช่นเดียวกับภาคอสังหาริมทรัพย์ของประเทศที่ประสบภาวะปั่นป่วน จากการที่เหล่าผู้พัฒนารายใหญ่ล้มเหลวที่จะก่อสร้างโครงการบ้านจัดสรรให้เสร็จสิ้น จนผู้ซื้อบ้านก่อการประท้วงและการคว่ำบาตรจำนอง ซึ่งบ่งชี้ล่าสุดว่าคลื่นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนหลังโควิดชะงักงันแล้ว

ธนาคารกลางของจีนยังได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงหลายครั้งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ และบรรลุเป้าหมายการเติบโตของปักกิ่งราว 5% ในปีนี้ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในตัวเลขความคาดหวังที่ต่ำที่สุดในรอบหลายทศวรรษของจีนที่ขึ้นชือว่าเป็นยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย