ตั้งทีมศึกษาผลกระทบแบน 3 สารเคมี

1041
0
Share:

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาผลกระทบจากการแบน 3 สารเคมี ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซส มีผล 1 ธ.ค.2562
.
โดยให้ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน พิจารณาว่าหากต้องแบน 3 สาร ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย จะมีผู้ที่ได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด และในวันที่ 6 พ.ย.2562 ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแบนสารเคมี อาทิ เกษตรกร ผู้ประกอบการเอกชนที่นำเข้าผลผลิตด้านการเกษตร ผู้ผลิตอาหารสัตว์ เป็นต้น จะร่วมกันหารือถึงมาตรการรับมือ
.
อย่างไรก็ตามสอบถามไปทุกสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมี ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการแบนสารไปบ้างแล้ว แต่ต้องให้ปลัดกระทรวงเกษตร ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาผลกระทบ หารือกับผู้ที่ได้รับผลกระทบและประเมินสถานการณ์ แล้วนำรายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต่อไป
.
ด้าน นายกิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมฯ กังวลว่าปี 2563 อุตสาหกรรมอ้อยจะสูญเม็ดเงินมากกว่า 3 แสนล้านบาท จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจาก เหตุแบนสารเคมีเกษตร กำลังการผลิตลด
.
จึงอยากขอร้องรัฐบาลควรช่วยภาคเกษตรของไทย เหมือนรัฐบาลต่างชาติ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และบราซิลที่ออกมาปกป้องสิทธิ์สินค้าเกษตร และเกษตรกรของตนเอง แต่รัฐบาลไทยกลับไม่ปกป้องสินค้าเกษตรไทย เพราะอ้อยที่ทำเงินเข้าประเทศ จำนวนมาก
.
สมาคมฯ ได้วิเคราะห์ตัวเลขความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะหากยกเลิกพาราควอต ซึ่งเป็นสารเคมีที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมการผลิตอ้อย เพราะเป็นสารตัวเดียวในกลุ่ม non selective ที่ไม่เป็นสารดูดซึม ปลอดภัยต่ออ้อย ระยะปลอดฝนสั้น ตรงกับสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย และยังไม่สามารถหาสารทดแทนได้
.
เกษตรกรชาวไร่อ้อยทราบดีว่า กลูโฟซิเนต และไกลโฟเซต จะใช้ฉีดลงโดยตรงในแปลงอ้อยไม่ได้ เพราะเป็นสารกึ่งดูดซึม และดูดซึม ทำให้อ้อยชะงักการเจริญเติบโตเสียหาย
.
การมีมติแบนพาราควอต จึงส่งผลโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ในพื้นที่กว่า 10 ล้านไร่ ทำให้เกษตรกรไร่อ้อยแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบ คิดเป็นเงินไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท
.
ซึ่งในความเป็นจริงผลผลิตอาจหายไปมากกว่านี้ และต้นทุนเกษตรกรต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน อีกทั้งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายดิบ ขาดวัตถุดิบ ต้นทุนผลิตสูงขึ้น รวมทั้งกระทบยังส่วนอื่น ๆ อาทิ ไม่สามารถส่งกากอ้อยไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้ตามเป้าหมาย หากเป็นเช่นนี้ ปีหน้า คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรมอ้อยอาจสูงถึง 5 แสนล้านบาท
.
โดยรัฐบาลไทยนอกจากไม่ปกป้องสินค้าเกษตรไทยแล้ว ยังซ้ำเติม ทำให้ผู้ส่งออกไทยเสียโอกาสในการแข่งขันสูญเสียรายได้เข้าประเทศ ที่สำคัญไม่ปกป้องเกษตรกรไทยเหมือนที่กำลังปกป้องสินค้าเกษตรจากต่างชาติ
.
ดังนั้น สมาคมฯ จะนำเรียนท่านนายกรัฐมนตรี พบเอกประยุทธ จันทร์โอชา ท่านรองนายก สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เพราะท่านต้องไม่ดูผลกระทบที่จะเกิดกับต่างชาติ และต้องไม่ห่วงใยสินค้านำเข้าเพียงอย่างเดียว จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบที่สุดเพื่อปกป้องสินค้าเกษตร และเกษตรกรไทยด้วย เพราะต่างชาติก็ยังมีการใช้ทั้งไกลโฟเซต และพาราควอต ไม่ว่าจะเป็น อเมริกา บราซิล ออสเตรเลีย แคนนาดา ญี่ปุ่น และอีกกว่า 80 ประเทศ เกษตรกรจากประเทศเหล่านี้ก็ใช้สารพาราควอตเหมือนเกษตรกรไทย