ตามกลไก! แบงก์พาณิชย์ในไทยคิดเงินค่าธรรมเนียมไม่ถูกต้องกว่า 3 ล้านบัญชี คิดเกินกว่า 1,500 ล้าน

423
0
Share:

วันนี้ 15 มกราคม 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงานมีชื่อว่า ธปท.เปิดแนวคิดนโยบายแบงก์ชาติ นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน กล่าวว่า การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ของ ธปท.นั้น ในช่วงที่ผ่านมา หลายฝ่ายได้มีการชี้แจงถึงผลกำไรที่สูงของแบงก์ แต่หากไปดูรายได้ ค่าธรรมเนียม จะเห็นว่าไปหายไปค่อนข้างเยอะ โดยในปี 2566 ธปท.เข้าไปดูการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่ไม่ถูกต้อง หรือเกินความเป็นจริง และได้มีการให้ธนาคารพาณิชย์ส่งคืนเงินที่ไม่ถูกต้อง หรือเกินความเป็นจริงรวมกว่า 3.3 ล้านบัญชี หรือคิดเป็นเงิน 1,500 ล้านบาท

สำหรับเรื่องของ NIM (ตัวเลขร้อยละที่แสดงถึงส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ เป็นการสะท้อนความสามารถในการหารายได้ของธนาคารพาณิชย์จากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรายรับและดอกเบี้ยจ่าย) เป็นหลักการของรายได้ดอกเบี้ยรับและรายจ่ายดอกเบี้ยหารด้วยสินทรัพย์เฉลี่ย

ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ตัวเลข NIM ของระบบธนาคารพาณิชย์ในไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.95% ปรับตัวสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แต่ไม่ได้สะท้อนค่าใช้จ่ายอีกหลายตัวในการประกอบธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ เช่น รายจ่ายการลงทุน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ระบบไอที ทำให้ ธปท.ต้องเข้าไปดูว่าการไม่มีประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจหรือไม่ ซึ่งในอนาคตค่าใช้จ่ายเหล่านี้ อาจจะปรับลดลงได้ อย่างไรก็ดี จะดูจากจุดใดจุดหนึ่งไม่ได้ จะต้องพิจารณาในภาพรวมและต้องดูในระยะยาว

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน กล่าวต่อไปว่า ธปท.มองว่าเป็นกลไกตลาด โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่มีการส่งผ่านค่อนข้างน้อย แต่เงินฝากประจำมีการส่งผ่านประมาณ 63% ส่วนหนึ่งมาจากสภาพคล่องในระบบการเงินที่ไม่ได้ตึงตัว แต่จะเห็นว่าในช่วงหลังที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำและเงินฝากดิจิทัลมากขึ้น

ทั้งนี้ กระแสการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ในไทยที่ค่อนข้างสูงนั้น ในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้มีการพูดคุยหารือกับธนาคารพาณิชย์เสมอ และคาดว่าจะต้องมีการพูดคุยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยเงินกู้มากขึ้น