ตามคาด!! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5%

501
0
Share:

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เปิดเผยว่า ที่ประชุมวันที่ 3 ก.พ. 2564 มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยประเมินว่า ในระยะสั้นเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดระลอกใหม่ แต่แรงกระตุ้นของมาตรการภาครัฐและการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง
.
แต่เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำและความไม่แน่นอนสูง ในระยะข้างหน้า จึงจำเป็นต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ เพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัด ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และประเมินว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ไม่รุนแรงเท่ากับการระบาดระลอกแรก

.

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ กนง. กล่าวว่า ขณะนี้ระบบการเงินไทยมีเสถียรภาพแต่มีความเปราะบางมากขึ้นในบางจุด จากผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและธุรกิจ SMEs สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2564 และจะอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการ โดยการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลาง ยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
.
สภาพคล่องโดยรวมอยู่ในระดับสูง และต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ แต่การกระจายตัวของสภาพคล่องยังไม่ทั่วถึง จากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้นตามฐานะการเงินที่เปราะบาง โดยเฉพาะธุรกิจที่ฟื้นตัวช้า และครัวเรือนที่ถูกกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่
.
ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาค คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และพิจารณาความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม รวมถึงผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง
.
คณะกรรมการฯ เห็นว่าความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐ และการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงาน มีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยนโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการทางการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์ อาทิ มาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิต การผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลในวงกว้าง รวมทั้งพิจารณามาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อเสริมประสิทธิภาพการกระจายสภาพคล่องและเพื่อรองรับเศรษฐกิจช่วงฟื้นฟูในอนาคต
.
ขณะที่มาตรการทางการคลัง ต้องพยุงเศรษฐกิจโดยไม่ขาดช่วง โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสามารถควบคุมการระบาดระลอกใหม่ได้ ควบคู่กับดำเนินการนโยบายด้านอุปทานเพื่อปรับรูปแบบธุรกิจ และยกระดับทักษะแรงงาน ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืน
.