ตามสั่งลดจริงป่าว! พาณิชย์เผยเงินเฟ้อเดือน ม.ค. 2566 ชะลอตัวต่ำสุดในรอบ 9 เดือน

232
0
Share:
ตามสั่งลดจริงป่าว! พาณิชย์ เผย เงินเฟ้อ เดือนม.ค. 2566 ชะลอตัวต่ำสุดในรอบ 9 เดือน

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เงินเฟ้อ ม.ค. 2566 เท่ากับ 108.18 สูงขึ้น 5.02% ชะลอตัวจากเดือน ธ.ค. 2565 ที่สูงขึ้น 5.89% อยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน โดยเป็นผลมาจากการชะลอตัวของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานและอาหาร ขณะที่อุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว เทศกาลปีใหม่ และตรุษจีน ส่งผลให้การใช้จ่ายคึกคักกว่าปีที่ผ่านมา

ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกสูงขึ้น 3.04% ชะลอตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่สูงขึ้น 3.23% ตามต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น 5.02%เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวของสินค้าในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 3.18 % ตามราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นทุกประเภท ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม รวมทั้งค่าโดยสารสาธารณะ และหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 7.70% โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป (กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกง/ข้าวกล่อง อาหารเช้า) ผักและผลไม้สด (ต้นหอม มะเขือ ผักบุ้ง แตงโม ส้มเขียวหวาน มะม่วง) ข้าวสาร และไข่ไก่

สาเหตุสำคัญยังคงเป็นต้นทุนที่อยู่ระดับสูง และอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลและวันหยุดยาว ตามสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร จากปริมาณที่มีเพียงพอต่อความต้องการ ผักสดและผลไม้บางชนิด เช่นขิง ถั่วฝักยาว พริกสด แครอท ทุเรียน

ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อเดือน ก.พ. 2566 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ลดลง ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อขยายตัวยังคงเป็นราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเงินเฟ้อ และราคาสินค้าในกลุ่มอาหารที่ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งค่าวัตถุดิบ ค่าขนส่ง และค่าจ้างแรงงาน ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว และนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งจะทำให้ความต้องการบริโภคโดยรวมและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชะลอตัว และเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าของไทยลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อของไทยไม่สูงมากนัก

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ระหว่าง 2.0–3.0% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทย โดยอาจมีการพิจาณณาทบทวนอีกครั้งหากมีปัจจัยเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ