ติดชิปให้มาเรียมดูแลความปลอดภัย

639
0
Share:

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติกล่าวถึงสถานการณ์ที่ได้มีการพบพะยูนเกยตื้นอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่ทะเลจังหวัดกระบี่และตรัง
ว่า การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการอนุบาลลูกพะยูนน้อยแบบธรรมชาติ และร่วมหารือเกี่ยวกับมาตรการในการดูแลสัตว์ทะเลหายาก ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)
.
โดยจากรายงานพบว่าปัจจุบันไทยพบพะยูนจำนวน 200-250 ตัว โดยพะยูนเป็นสัตว์สงวนตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 อีกทั้งยังพบการเกยตื้นของพะยูน ส่วนใหญ่มักเกิดจากภัยคุกคามทางด้านการประมง 89% ป่วยตาย 10% และอื่นๆ 1% โดยในช่วงที่ผ่านมาได้มีการพบลูกพะยูนขึ้นมาเกยตื้นในพื้นที่จังหวัดกระบี่
.
ดังนั้นเพื่อการอนุรักษ์พะยูนที่อาศัยอยู่ในประเทศให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะกรณีของ ‘เจ้ามาเรียม’ ขณะนี้ทีมสัตวแพทย์จากกรม ทช. และอาสาสมัครผู้พิทักษ์ดูหยงได้ทำการดูแลเจ้ามาเรียมแบบธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ตลอดจนมีการติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) ทั้ง 6 จุด เพื่อถ่ายทอดสดสัญญาณผ่านทางเพจเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ของกรม ทช. ตลอด 24 ชั่วโมง
.
เพื่อช่วยดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ให้กับเจ้ามาเรียม และอีกมุมหนึ่งทุกคนทั่วโลกจะได้เห็นกิจวัตรประจำวันของทีมงานสัตวแพทย์ โดยเริ่มตั้งแต่การป้อนนม การสอนกินหญ้า การพายเรือแม่ส้มออกไปสอนว่ายน้ำ เพื่อเป็นการเรียนรู้ชีวิตสัตว์ทะเลหายากที่ไม่เคยมีใครเห็นอย่างใกล้ชิดมาก่อน หากเจ้ามาเรียมแข็งแรงและสามารถปรับสภาพได้ดีแล้ว ก็จะปล่อยเจ้ามาเรียมกลับไปใช้ชีวิตตามธรรมชาติ และในอนาคตข้างหน้านี้ กรม ทช. จะทำการฝังชิปและติดแท็กเพื่อระบุตัวตนของเจ้ามาเรียมอีกด้วย
.
นอกจากนี้กระทรวงฯ จะเดินหน้าขับเคลื่อนและให้ความสำคัญเกี่ยวกับงานด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะสัตว์ทะเลหายากที่พบการเกยตื้นอยู่บ่อยครั้ง ไม่ใช่เพียงแค่พะยูนเท่านั้น แต่ยังมีสัตว์ทะเลหายากอีกหลายชนิด เช่น ฉลามวาฬ, โลมา และเต่าทะเล เป็นต้น