ตุลาการให้กลุ่มซีพีไปต่อเข้าประมูลพัฒนาอู่ตะเภา

1285
0
Share:

เมื่อวานนี้ทางตุลาการผู้แถลงคดีศาลปกครองสูงสุด มีความเห็นให้กลับคำพิพากษาศาลปกครองกลางกรณีประมูลอู่ตะเภา โดยให้ความเห็นว่า การดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนกับรัฐ ซึ่งคดีดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีเอกสารจำนวนมากเกี่ยวข้อง จำเป็นต้องมีการชี้แจงถึงกระบวนการที่ชัดเจนให้ผู้ยื่นเสนอทราบเป็นการล่วงหน้า เพื่อเปิดโอกาสให้การแข่งขันเป็นไปอย่างเป็นธรรม
.
แต่จากข้อเท็จจริง ปรากฎว่าคณะกรรมการคัดเลือกไม่มีเอกสารลำดับกระบวนการที่ชัดเจนมาก่อน ตั้งแต่เปิดลงทะเบียน ไปจนถึงการเข้ายื่นข้อเสนอในห้องรับรอง ซึ่งพบข้อเท็จจริง ว่า เมื่อเวลา 15.00 น. ของวันที่ 21 มีนาคม คณะกรรมการได้ตรวจรับซองจากกลุ่มบีบีเอส เป็นกลุ่มแรก ตามมาด้วยกลุ่ม Grand Consortium และสุดท้ายกลุ่มผู้ฟ้องหรือ กลุ่มธนโฮลดิ้ง (ซึ่งเป็นบริษัทในเครือซีพีกับพวกรวม 5 ราย) ซึ่งการระบุว่ามีการลำเลียงกล่องที่ 6 และ 9 ล่าช้าไป 9 นาที จึงน่าจะเป็นไปตามระยะเวลา
.
ขณะที่ข้อทักท้วงว่าการยื่นเอกสารล่าช้า ทำให้เกิดข้อได้เปรียบหรือเสียเปรียบกับผู้ยื่นประมูลอีก 2 ราย ก็ไม่สามารถอ้างได้ เนื่องจากผู้ที่ยื่นเอกสารรายที่ 3 ไม่อาจล่วงรู้รายละเอียด เทคนิค และราคาของรายอื่นๆ ได้เช่นกัน เนื่องจากเอกสารทั้งหมดถูกเก็บไว้ในห้อง Navy Club รวมทั้งเห็นว่าการพิจารณาเอกสารที่มีการยื่นเข้ามาแข่งขันทุกรายอย่างเป็นธรรมจะทำให้ภาครัฐได้ประโยชน์จากการแข่งขันมากที่สุด
.
ดังนั้น จึงมีความเห็นว่าศาลปกครองสูงสุดควรมีการเพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่ไม่รับเอกสารการประมูลของผู้ฟ้องคดี และกลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นในคดีนี้
.
น.ส.ปะราลี เตชะจงจินตนา ผู้ได้รับมอบอำนาจจากบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด แถลงย้ำว่า สถานที่ยื่นข้อเสนอที่มีการกำหนดในเอกสารการคัดเลือกเอกชนของโครงการนี้ หรือ RFP ระบุชัดเจนว่าเป็นห้องรับรองกองบัญชาการกองทัพเรือ ไม่ใช่จุดลงทะเบียนตามที่มีการนำมาอ้างและตัดสิทธิ์การยื่นข้อเสนอ ซึ่งโครงการนี้มีผู้ร่วมยื่นซองจำนวนมาก จึงมีการทยอยนำเอกสารมาทุกราย ซึ่ง ณ เวลา 16.45 น. ที่บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวก ได้เข้ายื่นเอกสารต่อคณะกรรมการคัดเลือกนั้น มีเอกสารครบถ้วนทุกรายการ และคณะกรรมการฯ ได้ตรวจรับไว้ทั้งหมด คณะกรรมการคัดเลือกจึงมีหน้าที่ต้องพิจารณาข้อเสนอทั้งหมด
.
ด้าน พล.ร.ต.เกริกไชย วจนานนท์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกกล่าวแย้งว่า ถ้าศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าเรื่องเวลาไม่ใช่สาระสำคัญ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ศาลปกครองสูงสุดก็เคยวินิจฉัยในคดีการประมูลก่อสร้างทางหลวงชนบท โดยตัดสิทธิ์ผู้เข้าประมูลที่มายื่นซองช้าหลังกำหนดปิดรับซองไป 39 วินาที
.
โดยการกลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในดคีนี้ ให้บริษัท ธนโฮลดิ้งฯ ได้สิทธิเข้าประมูล เท่ากับเป็นการทำลายระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และอาจทำให้เกิดค่านิยมใหม่ว่าต่อไปใครจะมายื่นซองเวลาไหนก็ได้หากให้ผลตอบแทนกับรัฐสูง
.
รวมทั้งอาจเกิดค่านิยมใหม่ ว่าแม้ทำผิดกฎ แต่มีเงินจ้างทนายเก่งและให้ประโยชน์รัฐมาก ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้งาน เพราะเงินชดเชยความผิดได้