ทองคำในไทยปรับขึ้นรอบ 2 บวกขึ้นเป็น 400 บาท รูปพรรณ 40,450 บาทแล้ว ทุบสถิติสูงสุดใหม่

128
0
Share:

สมาคมค้าทองคำประกาศราคาทองคำในไทย วันที่ 4 เมษายน 2567  ปรับขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เมื่อเวลา 9.19 .  อีก 50 บาท ปรับขึ้นเป็น 400 บาท เมื่อเทียบกับราคาปิดตลาดวานนี้  ( 3 เม..) ทำให้ทองคำแท่งรับซื้อที่บาทละ 39,850 บาท ขายออกบาทละ  39,950 บาท ส่วนราคาทองคำรูปพรรณ รับซื้อบาทละ 39,127.96  บาท และขายออกบาทละ 40,450 บาท ทำให้ราคาทองคำในประเทศทั้งทองคำแท่งและรูปพรรณพุ่งทะยานทุบสถิติสูงสุดใหม่ในประวัติศาสตร์

ขณะที่ ทองคำสิงคโปร์ วันนี้ รายงานว่า ราคาทองคำส่งมอบทันที หรือ Gold Spot เปิดตลาดวันนี้ที่ 2,301  ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ขณะที่ ค่าเงินบาทเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐ เปิดตลาดในประเทศอยู่ที่  36.70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) กล่าวว่า ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวขึ้นมาตั้งแต่ปีที่แล้ว จากคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดดอกเบี้ย เพื่อต้องการให้เงินเฟ้อลดลง ทำให้ราคาทองคำค่อยๆ ดีดตัวขึ้นมา และทำจุดสูงสุดช่วงปลายปีที่ 2,144 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และย่อลงมา ส่วนต้นปีนี้ เปิดตลาดที่ 2,062 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และ Sideway ประมาณ 1-2 เดือน กระทั่งปลายเดือนมีนาคม ทองคำดีดตัวขึ้นจุดสูงสุดอีกครั้ง และยังปรับตัวขึ้นร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง โดย YLG มองเป้าหมายไว้ที่ 2,300 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ภายในครึ่งปีแรก และถ้าหากผ่านไปได้มองว่าจะไปถึง 2350 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์

ส่วนราคาทองคำแท่งในประเทศ 96.5% เปิดตลาดเมื่อต้นปีที่ 33,550 บาทต่อบาททองคำ และปรับตัวขึ้นมาถึงบริเวณ 39,700 บาทต่อบาททองคำ ส่วนทองคำรูปพรรณ ราคาทะลุ 40,000 บาท ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ให้ไว้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ที่จะเห็นราคาแตะ 45,000 บาท

โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาทองคำมาจากความขัดแย้งรัสเซียยูเครน และตะวันออกกลาง เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ขณะที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศเข้าถือครองทองคำมากขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยง โดยจีนเป็นประเทศที่มีการทยอยลดการถือครองเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ต่อเนื่อง 16 เดือนติดต่อกัน นอกจากนี้ยังมีรัสเซีย ขณะที่สิงคโปร์ มีการถือครองทองคำเพิ่มขึ้น 33 ตัน ในปีที่ผ่านมา เมื่อย้อนดูสถิติ 10 ปีย้อนหลัง พบว่าธนาคารกลางแต่ละประเทศมีการถือครองทองคำมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2022 มีการซื้อทองคำมากถึง 1,000 ตัน และปี 2023 เข้ามาถือครองทองคำ 2,030 ตัน ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าธนาคารกลางแต่ละประเทศลดบทบาทค่าเงินดอลลาร์ต่อการค้าและการลงทุนของประเทศตัวเอง (De-Dollarization) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ทั่วโลกมีกำลังการผลิตทองได้ประมาณ 3,000 ตัน สัดส่วนการถือครองทองคำทั่วโลกขณะนี้แบ่งเป็นธนาคารธนาคารกลางทั่วโลก ประมาณ 1,000 ตัน จีน อีกเกือบ 1,000 ตัน และอินเดีย อีกเกือบ 1,000 ตัน ส่วนที่เหลือคือนักลงทุนรายย่อย ซึ่งจะมีตลาดรีไซเคิลที่มีการขายและวนกลับมาซื้อ ดังนั้น วงจรทองคำในแต่ละปี กำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 4,000 ตัน จะเห็นได้ว่ามีแต่การซื้อมากกว่าการขาย ขณะที่ต้นทุนในการนำเข้าทองคำจากต่างประเทศ (Premium) ทอง 1 ออนซ์ มีค่า Premium อยู่ที่ 60 เซนต์ ซึ่งค่า Premium แต่ละประเทศไม่เท่ากัน ไทยอยู่ที่ 2 ดอลลาสหรัฐ จีนอยู่ที่ 10-30 ดอลลาร์สหรัฐ เวียดนาม 100 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนอินเดีย คิดเป็น 14% ของปริมาณการซื้อขาย

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทองคำยังน่าสนใจ คือเมื่อราคาขยับขึ้นต่อเนื่องแล้วย่อตัวลงจะไม่ลงแรงเหมือนหุ้นหรือบิตคอยน์ โดยราคาจะลงไม่เกิน 10% และยังเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้ tracking การซื้อขายได้ตอบโจทย์นักลงทุนในภาวะที่เศรษฐกิจมีความผันผวน หากจะขายสามารถทำได้เมื่อผ่านแนวตั้งแต่ละจุด และควรจะซื้อในปริมาณที่สามารถรับความเสี่ยงได้ เนื่องจากมุมมองวายแอลจี มองราคาทองคำในปัจจุบันอยู่ในจุดที่สูงมากแล้ว จึงจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน

ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ราคาทองคำขึ้นมาแล้วประมาณ 10% ขณะที่เงินบาทขึ้นมา 7% หากซื้อทองต้นปี 33,550 บาท และขายในระดับที่ราคาทองทะลุ 40,000 บาท ได้กำไรไปแล้ว 17-18% การที่ทองคำทำลายสถิติราคาสูงสุดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องจับตาใกล้ชิดถึงปัจจัยต่างๆ ที่จะส่งผลต่อราคาทองคำ

อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารกลางทั่วโลกถือครองทองคำจำนวนมาก จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณของการเทขาย เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐยังล้นตลาด และคนไม่เชื่อมั่นในสกุลเงินดอลลาร์ แต่ที่เงินดอลลาร์ยังแข็งแกร่ง เนื่องจากยูโรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้เงินยูโรอ่อนค่า ขณะที่จีนยังมีปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่งผลให้เงินดอลลาร์ยังแข็งค่า และกระทบมายังเงินบาทไทยอ่อนค่าลง

ทั้งนี้ ประเทศไทยยังคงมีการนำเข้าทองคำมากกว่าส่งออก โดย 2 เดือนแรกของปี 2567 พบว่านำเข้าทองคำ 29.347 ตัน เพิ่มขึ้น 17.43% ขณะที่ส่งออกทองคำ 18.84 ตัน ลดลง 43% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่สถิติ 10 ปีย้อนหลัง ไทยซื้อทองคำเฉลี่ยปีละ 63 ตัน เป็นอันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นอันดับ 3 ในเอเชีย รองจากจีน 1,000 ตัน และอินเดีย 900 ตัน ส่วนหนึ่งมองว่าคนไทยมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทองหลากหลาย