ทอท.คาดผู้โดยสารปีนี้ ลดลงกว่า 70%

549
0
Share:

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)หรือ ทอท. เปิดเผยว่า วิกฤติโควิด-19 ส่งผลโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการบิน ทั้งด้านผู้ประกอบการเที่ยวบินต้นทุนต่ำ ขณะที่เกิดสภาวะพนักงานล้นเกินความต้องการ ต้องพยายามรักษาอัตราจ้างงานไว้ โดยสายการบินแห่งชาติอยู่ระหว่างพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ
.
ด้านทอท.ประสบกับปัญหาตัวเลขผู้โดยสารลดลงมากจนถึงจุดต่ำสุดและคาดว่าจะใช้เวลาฟื้นกลับมาเป็นปกติในเดือนต.ค. 2565 หรืออีกกว่า 2 ปีนับจากนี้ โดยเฉพาะช่วงที่ยังไม่เปิดประเทศผู้โดยสารรวมของ ทอท.จะเหลือยอดอยู่เพียง 25% จากยอดผู้โดยสารปกติ เนื่องจากเที่ยวบินระหว่างประเทศหายไปทั้งหมด และเที่ยวบินภายในประเทศชาวต่างชาติที่เป็นสัดส่วน 50% ไม่มีการเดินทาง
.
ทั้งนี้ตัวเลขผู้โดยสารล่าสุดวันที่ 29 ก.ค.2563 มีจำนวนเพียง 5.2 หมื่นคน/วัน จากช่วงปกติมีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 1.4 แสนคน แบ่งเป็นท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เหลือ 1.5 หมื่นคน และท่าอากาศยานดอนเมือง เหลือ 4 หมื่นคน/วัน ขณะที่ท่าอากาศยานภูเก็ตลดลง 84% ท่าอากาศยานหาดใหญ่ลดลง 35% และท่าอากาศเชียงรายลดลง 40%
.
อย่างไรก็ตามทอท.คาดการณ์ผู้โดยสารตลอดปี 2563 จะลดลง 72% เหลือ 38.81 ล้านคน เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมียอดผู้โดยสาร 141 ล้านคน ขณะที่ปี 2564 ตัวเลขผู้โดยสารจะเริ่มฟื้นตัวอีกครั้งอยู่ที่ 55 ล้านคน ส่วนปี 2565 ตัวเลขผู้โดยสารจะเติบโตต่อเนื่องที่ 132% ยอดรวมทั้งปี 128 ล้านคน จากนั้นปี 2566 ตัวเลขผู้โดยสารจะกลับมาเติบโตกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดอีกครั้งที่ 150 ล้านคน ส่งผลให้ ทอท.ต้องเดินหน้าลงทุนพัฒนาสนามบินต่อเนื่องและยืนยันว่าจะไม่หยุดลงทุนเพื่อเตรียมพร้อมรับยุครุ่งเรืองของตลาดการท่องเที่ยวไทยอีกครั้ง
.
โดยตลาดการบินจะยังคงมืดมิดและคาดการณ์ไม่ได้จนกว่าจะมีวัคซีนรักษาโควิด-19 ถือเป็นอุปสรรคของ ทอท.ซึ่งต้องแบกรับต้นทุนไปพร้อมกับลงทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2563-2564 มีความเสี่ยงที่จะเจอปัญหาสภาพคล่อง จนต้องเตรียมแผนสำรองเพื่อรับมือ แต่ทุกอย่างนี้ต้องอยู่บนเงื่อนไขว่าจะไม่มีโควิดระลอกที่ 2
.
แต่ในปีงบประมาณ 2563 ทอท.ยังไม่ขาดทุน เนื่องจากตุนเงินทุนสะสมไว้แล้วจากช่วงพีคของการท่องเที่ยวช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ดังนั้นปัญหาสภาพคล่องและสภาวะขาดทุนของ ทอท.อาจเกิดขึ้นในปี 2564 ซึ่งถือเป็นอีกปีที่ตัวเลขผู้โดยสารตกต่ำมาก แม้ปัจจุบันจะมีเงินสดในมือ 50,000 ล้านบาท แต่ก็มีความสุ่มเสี่ยงที่จะไม่เพียงพอในปี 2564 จากงบเบิกจ่ายและลงทุนต่อเนื่อง
.
แต่หลังจากนี้ ต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้งหนึ่ง หากมีความจำเป็นต้องกู้ สามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบ คือ 1.กู้สถาบันการเงิน 2.ออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยสมมติฐานทั้งหมดอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าไม่มีการแพร่ระบาดโควิด ระลอกที่ 2
.