ทั่วโลกอาจเห็นดอกเบี้ยสหรัฐทะลุ 5% ปีหน้า ขึ้นมากสุดใน 42 ปี จุดชนวนเศรษฐกิจถดถอยแรง

207
0
Share:
ทั่วโลกอาจเห็น ดอกเบี้ย สหรัฐ ทะลุ 5% ปีหน้า ขึ้นมากสุดใน 42 ปี จุดชนวนเศรษฐกิจถดถอยแรง

นักเศรษฐศาสตร์จากสำนักวิจัยบลูมเบิร์ก เปิดเผยว่า ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกายังคงยึดมั่นในการใช้วิธีปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการประชุมที่จะมีขึ้น 2 วันติดต่อกันในวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2565 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะขึ้นไปสูงถึง 5% ในเดือนมีนาคมปี 2566

ผลสำรวจของสำนักวิจัยบลูมเบิร์ก เปิดเผยว่า ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด จะปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นอีก 0.75% ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นถึง 0.75% เป็นครั้งที่ 4 ของการประชุมติดต่อกัน โดยจะประกาศผลการประชุมในวันที่ 2 พฤศจิกายน ตามเวลาในสหรัฐอเมริกา นั่นหมายความว่า อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นสะสมต่อเนื่องถึง 3.75% นับตั้งแต่เดือนมีนาคมปีนี้ซึ่งเป็นเดือนแรกที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จะกลายเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เร่งขึ้นมากที่สุดในรอบ 42 ปี หรือนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 ในยุคสมัยนายพอล วอล์คเกอร์ อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา

สาเหตุจากตัวเลขการใช้จ่ายบริโภคของชาวอเมริกัน หรือ Personal Consumption Expense ยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 2% ต่อเนื่อง นอกจากนี้ ดัชนีต้นทุนการจ้างงานในไตรมาสที่ 3 ปรับเพิ่มขึ้น 1.2% สอดรับกับอัตราค่าจ้างรายชั่วโมง และเงินเดือนชาวอเมริกันเพิ่มขึ้นอีก 1.3%

เมื่อผ่านพ้นการประชุมในวันที่ 1-2 พฤศจิกายนไปแล้ว ผลสำรวจดังกล่าวระบุว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นในอัตราชะลอตัวลงที่ 0.5% ในการประชุมนัดสุดท้ายของปีนี้ในเดือนธันวาคม ถัดจากนั้น เมื่อเข้าสู่ปี 2566 เฟดจะยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งละ 0.25% ในการประชุม 2 ครั้งติดกัน อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์เกือบ 1 ใน 3 หรือราว 33% ไม่ได้ปฏิเสธโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นแรงถึง 0.75% เป็นครั้งที่ 5 ติดต่อกัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นในเดือนธันวาคมปีนี้

ในขณะที่การคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของเฟดเมื่อเดือนกันยายน มองว่าดอกเบี้ยดังกล่าวจะขึ้นแตะที่ระดับ 4.4% ในสิ้นปีนี้ และขยับขึ้นเป็น 4.6% ในปี 2566 ก่อนที่จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวในปี 2567

นักเศรษฐศาสตร์จากผลสำรวจในครั้งนี้มองว่า ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาเร่งขึ้นดอกเบี้ยมากเกินไป ค่าเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของเฟดจะอยู่ที่ 4.75% ที่น่าสนใจคือ 75% ของนักเศรษฐศาสตร์มองว่า มีความเสี่ยงสูงมากที่เฟดจะยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นอย่างรุนแรง ส่งผลเกิดความยากลำบากต่อเศรษฐกิจ

สำหรับมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พบว่า ส่วนใหญ่มากถึง 75% ของนักเศรษฐศาสตร์ในผลสำรวจนี้มองว่าจะเกิดขึ้นในอีก 24 เดือนข้างหน้า ในขณะที่มีเพียง 5% มองว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างนิ่มนวล