ที่ปรึกษานายกฯ ย้ำอีกเสียง เศรษฐกิจแย่ เงินเฟ้อติดลบ 4 เดือนติด สะท้อนเงินฝืด

184
0
Share:
ที่ปรึกษานายก ฯ ย้ำอีกเสียง เศรษฐกิจ แย่ เงินเฟ้อ ติดลบ 4 เดือนติด สะท้อนเงินฝืด

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์และการเมืองพรรคเพื่อไทย และ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เงินเฟ้อในเดือนมกราคมยังคงติดลบมากขึ้นที่ – 1.11% ต่ำที่สุดใน รอบ 35 เดือน และติดลบเป็นเดือนที่ 4 ติดกัน ตามที่ได้เคยเตือนไว้แล้ว ซึ่งแสดงถึงปัญหาของเศรษฐกิจไทย เป็นภาวะเงินฝืดตามหลักเศรษฐศาสตร์

โดยสวนกระแสกับเงินเฟ้อของโลกที่สหรัฐยังมีเงินเฟ้อที่ 3.4% ในเดือนธันวาคม แสดงถึงกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลงมาก ทำให้ราคาสินค้าต้องปรับราคาลดลงเพราะคนไม่มีกำลังซื้อ ไม่ใช่เพราะนโยบายลดราคาพลังงานของรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งการลดราคาพลังงานของรัฐบาลอาจมีส่วนบ้างแต่ไม่มากนัก ทั้งนี้เพราะการลดราคาพลังงานไม่ได้มีผลมากเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนของเงินเฟ้อ อีกทั้งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง แต่เงินเฟ้อทั่วโลกก็ยังสูง

ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ยอมรับปัญหา เงินเฟ้อติดลบติดต่อกัน 4 เดือนนี้ อีกทั้งปัญหาเศรษฐกิจไทยก็ขยายตัวต่ำกว่าที่ ธปท. คาดการณ์มากมาตลอด 10 ปี โดยจะต้องเร่งออกนโยบายทางการเงินเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลที่ต้องการขยายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่งบประมาณปี 2567 ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในสภาฯ รัฐบาลจึงยังไม่สามารถใช้นโยบายทางการคลังผ่านการใช้งบประมาณได้ ซึ่งกว่าจะใช้ได้ก็น่าจะปลายเดือนเมษายนไปแล้ว ดังนั้นในช่วงเวลานี้นโยบายการเงินของ ธปท. จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากเพื่อประคองและกระตุ้นเศรษฐกิจ ในระหว่างการรองบประมาณ ซึ่งถ้าจะเพียงแต่รอให้งบประมาณให้ผ่านสภาก่อน เศรษฐกิจอาจจะย่ำแย่ทรุดหนัก

ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้ ธปท. เร่งลดดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งธปท. รับเองว่าสามารถทำได้และจะนำไปพิจารณา ก็อย่าพิจารณานานนัก เพราะยอมรับเองว่าการลดดอกเบี้ยน่าจะช่วยได้บ้าง ทั้งนี้ หากจะรอให้ ธปท. ลดดอกเบี้ยนโยบายโดยจะรอให้ธนาคารกลางของสหรัฐเริ่มลดดอกเบี้ยก่อน คงจะต้องรออีกนานเพราะเศรษฐกิจสหรัฐยังไปได้ดี การขยายตัวในไตรมาสสุดท้ายสูงถึง 3.3% ซึ่งสูงกว่าไทยที่ขยายตัวได้เพียง 1.4 % ในไตรมาสเดียวกันมาก ทั้งๆ ที่สหรัฐเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว อีกทั้งการจ้างงานในสหรัฐยังเพิ่มขึ้นถึง 353,000 คน ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐคงต้องเลื่อนการลดดอกเบี้ยไปหลังกลางปี 67 อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ธปท. สามารถเพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงินได้ โดยไม่ต้องให้รัฐบาลและเอกชนต้องมีความเสี่ยงในการกู้เงินจากต่างประเทศ ทั้งความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนและอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศที่สูงกว่าดอกเบี้ยในประเทศ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศในปริมาณที่สูงมาก สูงกว่า 2.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ที่ ธปท. น่าจะนำมาทำให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจได้ในภาวะการณ์เช่นนี้

เรื่องทั้งหมดนี้ ธปท. น่าจะทราบดี เพราะบุคคลากรของ ธปท. มีความฉลาดหลักแหลม และมีแนวทางให้เห็นในหลายประเทศแล้ว อีกทั้ง ธปท. ยังสามารถออกนโยบายทางการเงินอื่นๆเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนได้อีก แต่ไม่แน่ใจว่าทำไม ธปท. ถึงไม่ยอมปฏิบัติ โดยพูดเพียงว่าเศรษฐกิจกำลังไปได้ดี ทั้งที่ไม่เป็นความจริง ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้ ธปท. เร่งดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยต้องพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้โตตามศักยภาพ ไม่ใช่ลดศักยภาพให้ไทยโตได้เท่านี้ เพราะมิเช่นนั้นประชาชนจะลำบาก