ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพการแพทย์ในไทยฟื้นเร็วปี 66 ดันมูลค่าพุ่งกว่า 25,000 ล้านบาท

265
0
Share:
ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การแพทย์ในไทยฟื้นเร็วปี 66 ดันมูลค่าพุ่งกว่า 25,000 ล้านบาท

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics เปิดเผยว่า คาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยฟื้นเร็วโตเฉียด 2.5 หมื่นล้านบาทในปี 2566 แม้นักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงน้อยกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 โดยได้รับปัจจัยบวกจากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการพัฒนาใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะเทรนด์การดูแลสุขภาพเชิงการป้องกัน

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี ยังระบุว่า ไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นเร็วเกินคาด หลังจากเปิดประเทศไปในช่วงกลางปี 2565 ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเป็นการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่ไทยได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเดินทางมาท่องเที่ยวทั่วไป

ย้อนกลับไปในช่วงวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 รายได้จากการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยลดลงมาก เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ทั่วโลกเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด โดยเฉพาะในปี 2563 รายได้ลดลงกว่า 90% แต่เริ่มทยอยปรับดีขึ้นในปี 2564
เมื่อถึงปี 2565 คาดว่ารายได้จะเพิ่มเป็น 80% ของรายได้ก่อนวิกฤตโควิด-19 ในปี 2562 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2566 ที่ประมาณ 25,000 ล้านบาท

ปัจจัยบวกด้านการดูแลสุขภาพของไทยติดใน 5 อันดับแรกของโลก และเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย ซึ่งพบว่ามีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ต่อประชากรต่ำที่สุดใน 10 ประเทศ ซึ่งสะท้อนจากความมั่นคงทางสุขภาพสะท้อนจาก Global Health Security (GHS) Index 2021 ซึ่งเป็นช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

สิ่งสำคัญ คือค่ารักษาพยาบาลมีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ต่อประชากรต่ำที่สุดใน 10 ประเทศ โดยเฉลี่ยรายละ 296 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือ 10,360 บาทขณะที่เกาหลีใต้อยู่ที่อันดับ 9 ด้วยค่าใช้จ่าย 3,406 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 119,210 บาท

ทั้งนี้ ไทยยังเป็นประเทศจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ให้ภาพสอดคล้องกัน คือ ไทยติดอันดับประเทศในเอเชียที่มีรายได้สูงโดยอยู่ที่ 589 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 20,615 ล้าบบาท นำหน้าเกาหลีใต้ที่อยู่ที่ 415 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 14,525 ล้านบาท