ท่าอากาศยานไทยทุ่ม 3.6 หมื่นล้าน ดันสนามบินดอนเมือง ขึ้นแท่นฮับในประเทศ

219
0
Share:
ท่าอากาศยานไทย ทุ่ม 3.6 หมื่นล้าน ดัน สนามบินดอนเมือง ขึ้นแท่นฮับในประเทศ

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ประมาณการณ์ปริมาณผู้โดยสารในปีนี้ว่าจะฟื้นตัวกลับมาที่ 95 ล้านคน และเติบโตต่อเนื่องจนทะยานขึ้นถึง 200 ล้านคนภายในปี 2570 สอดคล้องกับการคาดการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ประเมินว่าสถานการณ์โควิด–19 จะคลี่คลายลง และนักเดินทางทั่วโลกจะกลับมาเทียบเท่าช่วงก่อนเกิดโควิด–19 ตั้งแต่ปี 2566–2567

กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ทอท. มีแผนลงทุนที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และพร้อมเปิดประกวดราคาเริ่มงานก่อสร้าง คือ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงินลงทุน 36,829.499 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนออกแบบ โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ พร้อมเปิดประกวดราคาจัดหาผู้รับเหมาในปี 2567 หลังจากนั้นจะเริ่มงานก่อสร้างในปี 2568 และทยอยเปิดให้บริการในปี 2572

โดยเป้าหมายของการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 เพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับปริมาณผู้โดยสาร พัฒนาคุณภาพการให้บริการ ทั้งระบบขนถ่ายผู้โดยสารทางอากาศและทางภาคพื้น มีประสิทธิภาพและลดความแออัดระบบจราจรภายใน ท่าอากาศยานจากปัจจุบันรองรับได้ 30 ล้านคนต่อปี ภายใต้ขีดความสามารถการใช้งานอาคารผู้โดยสารจำนวน 2 อาคาร โดยหากพัฒนาโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะเพิ่มอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 เพื่อให้บริการผู้โดยสารระหว่างประเทศ มีพื้นที่ใช้สอย 160,000 ตารางเมตร ซึ่งจะทำให้ท่าอากาศยานดอนเมืองมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 50 ล้านคนต่อปี นอกจากนี้ยังจะมีการปรับปรุงระบบจราจรชานชาลาผู้โดยสาร ให้รับความสะดวกในการเข้าออกท่าอากาศยาน รวมไปถึงก่อสร้างทางเชื่อมจากทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์เข้าสู่ชานชาลาผู้โดยสารโดยตรง

การพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 จะส่งผลให้ผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการสะดวกมากขึ้น เพราะจะมีการจัดสรรพื้นที่อาคารผู้โดยสารอย่างชัดเจน โดยอาคารผู้โดยสาร 3 ที่จะมีการพัฒนาใหม่นี้ รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ และสายการบินในเส้นทางระหว่างประเทศเท่านั้น ขณะที่อาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 และอาคารผู้โดยสาร 2 ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันจะปรับปรุง เพื่อรองรับผู้โดยสารภายในประเทศ รวมพื้นที่ใช้สอยมากถึง 240,000 ตารางเมตร ซึ่งจะทำให้ท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นศูนย์กลางของจุดบินภายในประเทศเต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ ทอท. มีความพร้อมลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 โดยจะจัดใช้เงินทุนจากรายได้ของ ทอท. ซึ่งปัจจุบันมีกระแสเงินสดสะสม (แคชโฟว์) เพียงพอต่อการลงทุน ซึ่งเบื้องต้นจะแบ่งแผนการดำเนินการ แบ่งออกเป็น
1. ส่วนของงานออกแบบ จะดำเนินการระหว่างปีงบประมาณ 2564–2566
2. งานก่อสร้าง จะดำเนินการระหว่างปีงบประมาณ 2566–2572

นอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของท่าอากาศยานแล้ว ทอท.ยังเร่งนำนวัตกรรมมาพัฒนางานให้บริการผู้โดยสาร เช่น เครื่อง CUSS (Common Use Self Service) สำหรับผู้โดยสารสามารถเช็กอินด้วยตนเองและเครื่องCUBD (Common Use Bag Drop) สำหรับให้ผู้โดยสารสามารถโหลดกระเป๋าสัมภาระได้เอง รวมไปถึงระบบส่งคืนถาดใส่สัมภาระอัตโนมัติ (Automatic Return Tray System: ARTS) ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความคับคั่งในการรอต่อคิว ณ เคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสารและบริเวณจุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ รวมไปถึงการเชื่อมต่อข้อมูลการบริการต่างๆของท่าอากาศยานไปไว้บนแอปพลิเคชัน SAWASDEE by AOT เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลา