ธปท.คาดสินเชื่อแบงก์พาณิชย์ปีนี้โต 3-5%

585
0
Share:

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 เติบโต 3.8% ลดลงต่อเนื่องจาก 4.2% ในไตรมาสก่อน จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และลูกหนี้บางรายออกหุ้นกู้มาทยอยชำระหนี้ โดยสินเชื่ออุปโภคบริโภคยังเติบโตได้ในระดับสูง แม้สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรถยนต์จะเติบโตในอัตราที่ลดลง และการระดมทุนผ่านสินเชื่อธนาคารพาณิชย์และตราสารหนี้ก็เติบโตในอัตราที่ลดลง สอดคล้องกับการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจ
.
แต่วัฎจักรการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ โดยปกติแล้วมักจะปล่อยสินเชื่อไม่มากนักในไตรมาสที่ 1 และ 3 แต่จะเร่งปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 4 โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อรายย่อย โดยคาดว่าสิ้นปีนี้ ธนาคารพาณิชย์จะสามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นตามเป้าที่วางไว้ 3-5% ขณะที่ปัจจุบันการปล่อยสินเชื่อยังเติบโตอยู่ในระดับ 1.5%
.
ส่วน NPL ในไตรมาส 3 ที่แม้จะสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.01% ยังเป็นการสูงขึ้นในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ โดย NPL ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคยังเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งคุณภาพสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ด้อยลงเกือบทุกพอร์ตสินเชื่อ ส่วนหนึ่งมาจากการเร่งปล่อยสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมา แต่คาดว่าสิ้นปี NPL จะอยู่ที่ระดับ 3% ตามที่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ตั้งเป้าไว้
.
ส่วนการเติบโตของสินเชื่อที่ให้กับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยนั้น พบว่า สินเชื่อปล่อยใหม่ให้กับผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยลดลง ทั้งแนวราบและแนวสูง เช่นเดียวกับสินเชื่อปล่อยใหม่เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ภายหลังมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้ ซึ่งมาตรการ LTV มีผลกระทบต่อการกู้สัญญาที่ 2 ขึ้นไป แต่ทำให้สามารถซื้อที่อยู่อาศัยในราคาที่สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น
.
โดยการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยสัญญาแรกกับธนาคารพาณิชย์โดยรวมยังเติบโตได้ 8.8% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ขณะที่การกู้ซื้อที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 2 ขึ้นไปลดลง 14% โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียม และการกู้ซื้อสัญญาที่ 3 ขึ้นไป ลดลง 31.4%
.
หลังจากมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้ ก็เป็นไปตามเป้าประสงค์ที่ ธปท.วางไว้ จะพบว่าส่งผลกระทบกับการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยในสัญญาที่ 2 ขึ้นไป โอกาสที่ลูกหนี้กลุ่มที่เปราะบางจะมีปัญหาในอนาคตก็จะลดลงไป ราคาบ้านที่ถูกกดดันจากการลงทุนหรือการเก็งกำไร ก็จะลดลง ทำให้ผู้ที่ต้องการซื้อบ้านจริงๆ สามารถซื้อในราคาที่จับต้องได้มากขึ้น
.
ส่วนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.นำไปสู่การช่วยลดภาระจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่ลูกหนี้ ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLR, MRR, MOR ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งที่ผ่านมา ช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ ทั้งผู้ประกอบธุรกิจและรายย่อยได้มากกว่า 1.8 ล้านราย ขณะที่ผลกระทบต่อกำไรของธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้
.