ธปท.ชี้สินเชื่อแบงก์พาณิชย์ปี 65 โต 2.1% ชะลอลงจากปีก่อน ขณะหนี้เสียลดหลัง

268
0
Share:
ธปท. ชี้ สินเชื่อ แบงก์พาณิชย์ปี 65 โต 2.1% ชะลอลงจากปีก่อน ขณะ หนี้เสีย ลดหลัง

น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2565 พบว่าสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2565 ขยายตัว 2.1% ชะลอลงจากปีก่อน จากการชำระคืนหนี้ของธุรกิจขนาดใหญ่ ภาครัฐ และสินเชื่อ Soft loan รวมทั้งการโอนพอร์ตรายย่อยไปยังบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง และการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ อย่างไรก็ดี สินเชื่อยังขยายตัวได้จากธุรกิจรายใหญ่ในภาคพาณิชย์ และสินเชื่อรายย่อยพอร์ตที่อยู่อาศัยและส่วนบุคคลเป็นสำคัญ

ขณะที่คุณภาพสินเชื่อ ธนาคารพาณิชย์ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ และบริหารจัดการคุณภาพหนี้ ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non Performing Loan: NPL หรือ stage 3) ณ สิ้นปี 2565 ลดลงมาอยู่ที่ 499.2 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.73%

โดยสะท้อนได้ว่าระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคง และมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถทำหน้าที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในปี 2565 ปรับดีขึ้นจากปีก่อน โดยหลักเป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อ และทิศทางอัตราดอกเบี้ย ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายสำรองลดลง หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ได้ทยอยกันสำรองในระดับสูงตลอดช่วงโควิด-19

อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน และการฟื้นตัวของธุรกิจบางกลุ่ม โดยภาคครัวเรือน แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะปรับลดลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ครัวเรือนยังเปราะบางจากภาระหนี้สูง และยังต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อของลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 และอาจได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพและดอกเบี้ยที่ทยอยปรับสูงขึ้น ซึ่งสถาบันการเงินยังให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มเปราะบาง

ในส่วนของภาคธุรกิจนั้น สัดส่วนหนี้ภาคธุรกิจต่อ GDP ปรับลดลงจากไตรมาสก่อน และความสามารถในการทำกำไรโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังต้องติดตามฐานะการเงินของภาคธุรกิจ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น