ธปท.ชี้หนี้ครัวเรือนไทยน่าเป็นห่วง

697
0
Share:

นางสาวอัจจนา ล่ำซำ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 63 ในหัวข้อ เจาะความท้าทายใหม่ของหนี้ครัวเรือนในวิกฤติโควิด-19 จากข้อมูลสินเชื่อที่เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือว่า หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในหลายปีที่ผ่านมา และมีความรุนแรงขึ้น
.
เห็นได้จากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นเป็น 80.1% ในไตรมาสแรกปี 2563 เพิ่มจาก 50.4% เมื่อปี 2552 ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่การเกิดโรคระบาดโควิด-19 ยิ่งทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมีความท้าทายมากขึ้น และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้า
.
ทั้งนี้ จากการศึกษาครั้งนี้ได้ใช้ฐานข้อมูลเชิงสถิติจากเครดิตบูโร ที่ครอบคลุมสินเชื่อรายย่อย 23.1 ล้านคน มูลหนี้รวม 11.9 ล้านล้านบาท (คิดเป็น 88.3% ของหนี้ครัวเรือนในระบบทั้งหมด) และข้อมูลสินเชื่อเกษตรกรจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาศึกษาสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยพบว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยเป็นหนี้ในวงกว้างขึ้น และมีค่ากลางมูลหนี้เพิ่มจาก 7 หมื่นบาทต่อราย เป็น 1.28 แสนบาท
.
ขณะที่สัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียลดลงจาก 22% เหลือ 16% แต่ก็ยังถือว่าสูง หนี้เสียดังกล่าวมีค่ากลางมูลหนี้ที่ 6.5 หมื่นบาทต่อราย จากเดิมอยู่ที่ 3.5 หมื่นบาท และพบว่าคนไทยยังเป็นหนี้เร็ว คือเป็นหนี้ตั้งแต่อายุน้อย 60% ของกลุ่มคนอายุ 29-30 ปีจะเป็นหนี้ โดยกลุ่มคนอายุน้อยจะมีหนี้เสียถึง 1 ใน 4 และคนไทยยังเป็นหนี้นาน แม้หลังเกษียณแล้ว ยังมีค่ากลางมูลหนี้ประมาณ 7-8 หมื่นบาทต่อราย
.
สำหรับปัจจัยที่เกื้อหนุนให้มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นในคนเมือง คือ นโยบายรถคันแรกทำให้ ทั้งที่ไม่พร้อมจะเป็นหนี้ และกลายเป็นหนี้เสีย ขณะที่คนในชนบทพบว่านโยบายการให้ความช่วยเหลือภาครัฐ เช่น นโยบายพักชำระหนี้เกษตรกร จากการศึกษาพบว่า เกษตรกรที่เข้าโครงการพักหนี้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2559 มีหนี้สะสมมากขึ้น และกลายเป็นหนี้เสีย มากกว่าเกษตรกรที่ไม่ได้เข้าโครงการ ฉะนั้น โครงการพักหนี้เกษตรกรจึงอาจไม่ใช่แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ในระยะยาวเมื่อเกิดสถานการณ์โรคโควิด 19 ระบาด ส่งผลให้ครัวเรือนจำนวนมากมีปัญหาในการชำระหนี้
.
ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้ใช้วิธีการแยกบัญชีและผู้กู้ที่เข้ามาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระหว่างเดือนเม.ย.-มิ.ย. 63 พบว่ามีจำนวน 8.1 ล้านบัญชี หรือมูลหนี้ประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่ 59% เข้าร่วมมาตรการในเดือนเม.ย. โดย 42.6% เข้ามาตรการครบ 3 เดือน ขณะที่ 16.6% ออกจากมาตรการก่อนครบ 3 เดือน แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของสถานการณ์ที่ไม่เท่ากันของผู้กู้แต่ละกลุ่ม
.
โดยผู้กู้เข้ามาตรการแบบเลื่อนชำระหนี้ ถึง 71% สะท้อนถึงการมีปัญหาในการชำระหนี้ ขณะที่ 26% ใช้วิธีลดอัตราชำระหนี้ และ 3% เข้ามาตรการสำหรับสินเชื่อที่เป็น NPL คือ ปรับโครงสร้างหนี้ หรือโครงการคลินิกแก้หนี้
.
ด้านสถาบันการเงินที่เป็นผู้ให้กู้ พบว่ากลุ่ม นอน-แบงก์ มีสัดส่วนสินเชื่อในพอร์ตที่เข้าโครงการมากที่สุด 37-75% ของสินเชื่อในพอร์ต ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเช่าซื้อ ขอลดอัตราการชำระเป็นหลัก แสดงให้เห็นว่า กลุ่มนอนแบงก์อาจจะมีความเปราะบางมากกว่าสถาบันการเงินกลุ่มอื่น เห็นได้จากมีบัญชีที่เข้ามาตรการจำนวนมาก และอาจมีความเสี่ยงที่ผู้กู้จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ขอเลื่อนระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป
.
อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์โควิด 19 ยืดเยื้อออกไป ผู้กู้ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้มากขึ้น เมื่อพิจารณาผู้กู้ที่เข้ามาตรการพบว่าส่วนใหญ่มีภาระหนี้สูง ค่ากลางมูลหนี้ประมาณ 5 แสนบาทต่อราย สูงกว่าผู้กู้ที่ไม่เข้ามาตรการ (1 แสนบาทต่อราย) และมีการกู้หลายบัญชี คือ 4-5 บัญชีขึ้นไป
.
ทั้งนี้ ในเดือนก.ค. 2563 ซึ่งครบกำหนดมาตรการช่วยเหลือของสินเชื่อบางประเภท พบว่า มีผู้กู้ที่ออกจากมาตรการ 2.1 ล้านราย หรือ 36.7% ของผู้กู้ที่เข้ามาตรการ และมีบัญชีที่ขอออกจากมาตรการ 3.4 ล้านบัญชี หรือ 44% ของบัญชีที่เข้ามาตรการ ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเช่าซื้อ และเป็นผู้กู้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มากกว่าภาคอื่น โดยเป็นลูกหนี้ของนอน-แบงก์เป็นหลัก แต่บางนอน-แบงก์ที่มี exposure สูงก็ยังคงสูงอยู่ เพราะแม้จะมีบัญชีที่ขอออกจากมาตรการบ้าง แต่ในสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับบัญชีสินเชื่อที่เข้ามาตรการ
.