ธปท.เตรียมปรับคาดการณ์เงินเฟ้อปีเสือ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 1.7% หลังต้นปีพุ่งแรง

788
0
Share:
เงินเฟ้อ

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.เตรียมปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปในปี 65 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 1.7% ตามราคาน้ำมันและราคาเนื้อสัตว์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในรอบเดือน มี.ค. รวมทั้งทบทวนประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจปี 65 ซึ่งได้ปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกที่ขยายตัวดี แต่ก็คาดว่าตัวเลขเศรษฐกิจไม่ได้แตกต่างจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญมากนัก

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 65 มีแนวโน้มสูงกว่ากรอบเป้าหมายในช่วงแรกของปีนี้ และมีแนวโน้มปรับลดลงในช่วงหลังของปี โดยอัตราเงินเฟ้อล่าสุด ณ เดือน ม.ค.ปรับเพิ่มมาที่ 3.23% จาก (1) ราคาพลังงานเป็นสำคัญโดยราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นถึงเกือบร้อยละ 30 เทียบกับปีที่แล้ว และ (2) อาหารสด เช่น เนื้อหมู โดยจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาเป็นการปรับขึ้นราคาสินค้าเฉพาะบางหมวด ไม่ได้มีการเพิ่มขึ้นในหลาย ๆ สินค้าพร้อมกันเป็นวงกว้าง ทั้งนี้ มีสินค้าจำนวนมากเกือบ 200 รายการในตะกร้าเงินเฟ้อที่ราคาที่คงที่หรือลดลง

ทางด้านนายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. ระบุว่า ที่ผ่านมาเป็นการปรับขึ้นราคาสินค้าเฉพาะบางหมวด และไม่เห็นการเพิ่มขึ้นของราคาแบบยกแผง ซึ่งมีสินค้าจำนวนมากเกือบ 200 รายการในตะกร้าเงินเฟ้อที่ราคาที่คงที่หรือลดลง เช่น ข้าว และ ค่าเล่าเรียน สำหรับเงินเฟ้อในระยะต่อไป แนวโน้มของราคาน้ำมันรวมถึงการคลี่คลายของปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ และเนื้อหมู จะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงได้ อีกทั้งกำลังซื้อที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัวส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์อยู่ในระดับต่ำ

ธปท.คาดว่าราคาน้ำมันจะเริ่มลดลงได้ในช่วงไตรมาส 2/65 แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ตลาดโลก โดยไทยก็ยังมีกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้าไปดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันอยู่ ขณะที่ราคาเนื้อหมูคาดว่าจะปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี โดยใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 10 เดือนสถานการณ์ปริมาณหมูที่ลดลงจึงจะเริ่มคลี่คลาย

ทั้งนี้ ธปท.ยืนยันว่าการขึ้นราคาของสินค้าบางรายการตั้งแต่ต้นปี เกิดจากปัจจัยเฉพาะของหมวดสินค้านั้นๆ เช่น ปัญหาในประเทศผู้ผลิตน้ำมัน และอุปทานหมูที่ลดลงจากโรคระบาด ขณะที่เงินเฟ้อเป็นการวัดการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการโดยรวม ครอบคลุมสินค้ามากกว่า 400 รายการ และเป็นการเฉลี่ยราคาไปตามสัดส่วนของรายจ่ายที่ผู้บริโภคใช้ซื้อสินค้าแต่ละรายการ

โดยราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าครองชีพของผู้บริโภค แต่ผลกระทบดังกล่าวจะมีมากหรือน้อยส่วนหนึ่งขึ้นกับรายได้ของผู้บริโภคแต่ละคน รวมถึงลักษณะสินค้าและปริมาณที่บริโภคว่าเป็นสินค้าที่ราคาแพงขึ้นมากหรือไม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ควรต้องเฝ้าระวัง คือ ราคาเพิ่มขึ้นในหลายหมวดสินค้าพร้อม ๆ กัน ราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องยาวนาน และ ราคาที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อพฤติกรรมการตั้งราคาและมุมมองอัตราเงินเฟ้อในอนาคต “เงินเฟ้อคือการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าต่อเนื่อง เป็นวงกว้าง แต่ตอนนี้ ของแพงบางสินค้า แล้วหยุดอยู่กับที่ จึงอยากให้เข้าใจว่า เงินเฟ้อ อาจจะต่างกับ ของแพง”

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีและอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% นโยบายการเงินยังให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ซึ่งหากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็ว จะทำให้เกิดการจ้างงาน ส่งผลให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเปราะบางจากผลกระทบของ COVID-19 ที่ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นขณะที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ นอกจากนี้ ธปท. ได้ออกมาตรการการเงินรูปแบบต่าง ๆ เพื่อลดภาระหนี้ แก้หนี้เดิม เติมเงินใหม่ให้กับประชาชน เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่องในระยะข้างหน้า