ธุรกิจญี่ปุ่นหนีลงทุนจากจีน เคียวเซราปักหมุดไทย เพิ่มกำลังผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์

344
0
Share:
ธุรกิจญี่ปุ่นหนี ลงทุน จากจีน เคียวเซรา ปักหมุด ไทย เพิ่มกำลังผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์

เคียวเซรา (Kyocera) ยักษ์ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ชื่อดังระดับโลกจากประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ได้ตัดสินใจเพิ่มการลงทุนในประเทศไทยด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ที่เรียกว่า ตัวเก็บประจุ หรือคาพาซิเตอร์ ที่ใช้ในการประกอบสมาร์ทโฟน และในรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถอีวี

นายโคอิชิ คาโน่ กรรมการ บริษัทเคียวเซรา กล่าวว่า ในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น สถานการณ์การเมืองในประเทศไทยมีความมั่นคง และทรัพยากรบุคคลในไทยสามารถจ้างหางานได้ง่ายเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆในอาเซียน บริษัทเคียวเซรามีแผนที่จะเพิ่มการลงทุนถึง 100,000 ล้านเยน หรือ 671 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 24,827 ล้านบาทในโรงงานที่ประเทศไทยในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเริ่มต้นในปีงบประมาณ 2023 เป็นต้นไป โดยมีเป้าหมายให้เป็นฐานผลิตสำคัญของบริษัทในการผลิตและส่งออกชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและจีนแผ่นดินใหญ่

บริษัทเคียวเซร่าเป็นหนึ่งในบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่จำนวนมากที่ตัดสินใจย้ายการผลิตออกนอกประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ โดยมีเป้าหมายมาลงทุนในอาเซียน อินเดีย และอเมริกาเหนือ เพื่อต้องการกระจายเครือข่ายห่วงโซ่การผลิตออกนอกประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ท่ามกลางปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ เมโกะ อิเลคทรอนิกส์ เป็นอีกหนึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์สัญชาติญี่ปุ่น ที่ผลิตแผงวงใจไฟฟ้า จะสร้างโรงงานแห่งใหม่ในประเทศเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะเริ่มการผลิตในปี 2025 เพื่อผลิตแผงวงใจไฟฟ้าใช้ในรถยนต์ นายยูอิชิโร นายา ประธานบริษัทเมโกะ อิเลคทรอนิกส์ กล่าวว่า ลูกค้าของบริษัทร้องขอให้ผลิตสินค้านอกประเทศจีนแผ่นดินใหญ่

รัฐบาลญี่ปุ่น เปิดเผยว่า การลงทุนทางตรง หรือเอฟดีไอของญี่ปุ่นในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ลดลงต่อเนื่อง โดยลดลงมากถึง -5.7% ในปีงบประมาณ 2022 การลงทุนทางตรงที่ลดลงอย่างมากดังกล่าวสะท้อนถึงปัญหาของจีนแผ่นดินใหญ่เกี่ยวกับปัญหาทางโครงสร้างหลายอย่าง เช่น ค่าจ้างแรงงานที่มีค่าใช้จ่ายสูง และปัญหาความตึงเครียดด้านการเมืองระหว่างประเทศระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับสหรัฐอเมริกา

ในขณะเดียวกัน การลงทุนทางตรง หรือเอฟดีไอของญี่ปุ่นในอินเดียเมื่อปี 2022 กลับเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และในอเมริกาเหนือกลับเพิ่มขึ้นมากถึง 28.7% ในปีเดียวกัน นอกจากนี้ การลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นนอกประเทศญี่ปุ่นนวมทั้งหมดในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ พบว่า ทวีปอเมริกาเหนือคิดเป็น 36.2% และในภูมิภาคอาเซียนซึ่งมี 5 ประเทศหลัก ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย รวมคิดเป็น 10% ในขณะเดียวกันสัดส่วนดังกล่าวลดลงมาอยู่ที่ 7% สำหรับจีนแผ่นดินใหญ่