ธุรกิจท่องเที่ยวป่วนขาดแคลนแรงงานพุ่ง 5 จังหวัดท่องเที่ยวยอดิตต้องการมากสุด

204
0
Share:
ธุรกิจ ท่องเที่ยว ป่วนขาดแคลน แรงงาน พุ่ง 5 จังหวัดท่องเที่ยวยอดิตต้องการมากสุด

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้ประชุมร่วมกับสมาคมโรงแรมไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและบริการ เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในกิจการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งตามที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและบริการประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานจากการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังการระบาดโควิด-19 นั้น พบว่า จากรายงานความต้องการแรงงานใน 60 จังหวัดสรุปเมื่อวันที่ 18 ม.ค.66 พบว่า มีสถานประกอบกิจการที่มีความต้องการแรงงาน จำนวน 1,817 แห่ง ลูกจ้าง 9,763 คน

จังหวัดที่มีความต้องการสูงสุด 5 ได้แก่ 1.ภูเก็ต 3,648 คน 2.เชียงใหม่ 858 คน 3.ชลบุรี 594 คน 4.พังงา 410 คน และ 5. สุราษฎร์ธานี 349 คน รวมทั้งสิ้น 5,859 คน ส่วนตำแหน่งงานที่ต้องการมากที่สุด คือ 1.พนักงานต้อนรับ 2.พนักงานเสิร์ฟ 3. พนักงานทำความสะอาด แม่บ้าน 4. เชฟ ผู้ช่วยเชฟ พ่อครัว แม่ครัว ผู้ช่วยงานในครัว และ 5.พนักงานเก็บเงิน พนักงานบัญชี

สำหรับแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงแรงงานนั้น ในส่วนของกรมการจัดหางาน ในระยะเร่งด่วนจะสนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษา ได้ทำงานแบบพาร์ทไทม์ เพื่อให้มีทักษะ มีรายได้ระหว่างเรียน โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอม พร้อมกับช่วยให้สถานประกอบการมีแรงงานเพียงพอสามารถขับเคลื่อนกิจการต่อไปได้ เมื่อได้ข้อมูลความต้องการที่แท้จริงจากผู้ประกอบการแล้วจะจัดการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเป็นระบบจากจังหวัดที่มีกำลังแรงงานไปสู่จังหวัดที่ขาดแคลน เร่งประสานสถานศึกษาเอกชนปรับเวลาส่งนักเรียน นักศึกษาสาขาการท่องเที่ยวและโรงแรมเข้าฝึกอบรมในระบบทวิภาคี ในโรงแรมที่มีความต้องการแรงงานในช่วงไฮซีซัน และเจรจาเรื่องค่าตอบแทนและสวัสดิการแก่นักเรียน นักศึกษา ที่เหมาะสม เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาสาขาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยวบริการเข้าฝึกงานในสถานที่จริง แบบ On The Job Training

ส่วนระยะยาวจะให้จัดหางานทุกจังหวัดนำโครงการ 3 ม. (มีงาน มีเงิน มีวุฒิการศึกษาเพิ่ม) มาประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนระดับ ม.6 ปวช. ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ได้รับทราบและเข้าร่วม โดยโครงการนี้เป็นโครงการที่ได้บูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถานศึกษา เพื่อส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ที่ต้องการความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และความมั่นคงในชีวิตได้ศึกษาต่อในสาขาวิชาที่ต้องการ เพื่อให้ได้วุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น

โดยได้รับบริการส่งเสริมสนับสนุนให้ทำงานในสถานประกอบการ ได้รับค่าจ้าง และสวัสดิการต่าง ๆ ตามกฎหมาย ในส่วนของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะดำเนินการฝึกอบรม up skill ให้นักศึกษาชั้นปีสุดท้ายด้านการท่องเที่ยวและโรงแรม ด้านภาษา และหลักสูตรตามที่ขาดแคลน รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับสถานประกอบกิจการ โดยใช้สิทธิประโยชน์จาก พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 โดยให้สถานประกอบการรับสมัครคนทำงานแล้วส่งให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานฝึกอบรมด้วย