ธุรกิจไทยประสบปัญหาผูกขาดอย่างรุนแรง

1254
0
Share:

นายอาชว์ ปวีณวัฒน์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับคณะนักวิจัยศึกษาเกี่ยวกับภาคธุรกิจไทยจากการวิเคราะห์งบการเงินรายปีของบริษัทกว่า 750,000 ราย ครอบคลุมระยะเวลากว่า 10 ปี ผลการศึกษาสะท้อนโครงสร้างของภาคธุรกิจที่น่าเป็นห่วงในหลายด้าน ทั้งการกระจุกตัวของรายได้ที่สูงอย่างต่อเนื่อง การผูกขาดทางธุรกิจที่รุนแรงขึ้น และพลวัตที่ลดลง จึงอยากแนะนำให้เร่งส่งเสริมการแข่งขัน เพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อ ควบคู่ไปกับการยกระดับผลิตภาพของภาคธุรกิจไทย
.
โดยผลการศึกษาพบว่าบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 5% มีรายรับรวมสูงถึง 85% ของรายรับทั้งหมดของภาคธุรกิจไทย และการกระจุกตัวในลักษณะนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอย่างน้อยกว่า 10 ปีแล้ว ในขณะที่บริษัทขนาดกลาง มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนสูงกว่าบริษัทขนาดใหญ่ แต่มีปัญหาด้านข้อจำกัดด้านสินเชื่อ ส่วนบริษัทขนาดเล็กจำนวนมากมีปัญหาผลิตภาพที่ค่อนข้างต่ำ
.
นอกจากนี้ บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กยังมีปัญหาการบริหารสินทรัพย์หมุนเวียน ตัวอย่างเช่น ระยะเวลาที่บริษัทขนาดเล็กต้องจ่ายเงินสดล่วงหน้าเพื่อซื้อวัตถุดิบก่อนที่จะได้เงินสดกลับเข้ามาจากการขายสินค้า ยาวนานกว่าบริษัทขนาดใหญ่ถึง 4 เดือน ซึ่งเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสทางการเงินที่สูงขึ้นของบริษัทขนาดเล็ก
.
นอกจากนี้ อำนาจตลาดของธุรกิจไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2554 แสดงถึงแนวโน้มของการแข่งขันที่ลดลง โดยอำนาจตลาดของบริษัทที่มีอำนาจตลาดสูงอยู่แล้วเพิ่มขึ้นเร็วกว่าบริษัทอื่น ๆ ทั้งนี้ บริษัทในภาคบริการมีอำนาจตลาดสูงกว่าบริษัทในภาคการผลิต และบริษัทในกลุ่มทุนมีอำนาจตลาดสูงกว่าบริษัทที่ไม่ใช่กลุ่มทุน
.
ทั้งนี้ บริษัทที่มีอำนาจตลาดสูงสุด 5% แรกของประเทศอยู่ในอุตสาหกรรมค้าปลีก ค้าส่ง ร้านอาหาร โรงแรม และการผลิตอาหาร // ส่วนอุตสาหกรรมที่มีอำนาจตลาดสูงขึ้นมากที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือ การขนส่งทางน้ำ ตัวแทนธุรกิจจัดการเดินทางและธุรกิจจัดนำเที่ยว คลังสินค้า ธุรกิจบันเทิง และภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ // ส่วนธุรกิจที่มีอำนาจตลาดลดลง ได้แก่ โทรคมนาคม สิ่งพิมพ์ กิจกรรมกีฬาและความบันเทิง กิจกรรมบริการสารสนเทศ และร้านอาหาร