ธ.อ.ส.จ่อปรับขึ้นค่างวดผ่อนบ้านสูงสุดในรอบ 10 ปี ทุกๆ 1 ล้าน ค่างวดอาจขึ้น 500 บาท

712
0
Share:
ผ่อนบ้าน

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้เตรียมดูไว้แล้ว ถ้าดอกเบี้ยขึ้นไม่ว่าจะเป็น 0.25% หรือ 0.5% จะมีบัญชีกู้ยืมซื้อบ้านไหนบ้างที่ต้องปรับเงินงวดใหม่ ถ้าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้บ้านปรับสูงขึ้น 0.25% จะทำให้เงินงวดผ่อนบ้านปรับสูงขึ้น 500 บาท ในทุก ๆ วงเงินกู้ 1 ล้านบาท ซึ่งจะมีสินเชื่อในพอร์ตที่จะต้องปรับเงินงวดเพิ่มขึ้นประมาณ 35% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด 1.4 ล้านล้านบาท ขณะที่ใน 35% นั้น แบ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ประจำกับลูกค้าที่มีอาชีพอิสระ อย่างละ 50% ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่น่าเป็นห่วงที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ กลุ่มลูกค้าที่มีอาชีพอิสระที่มีรายได้ไม่แน่นอน

สำหรับสถานการณ์ในปี 2565 แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีโอกาสจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายครั้ง  ซึ่งจะสร้างแรงกดดันให้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นตาม

ดังนั้น สิ่งที่น่าห่วงตามมา คือ หากอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นจะกระทบต่อเงินค่างวดในการผ่อนชำระรายเดือนของผู้กู้อาจไม่พอตัดเงินต้น เพราะเงินงวดต้องนำไปตัดดอกเบี้ยก่อน  ซึ่งอาจทำให้ธนาคารต้องปรับการปรับขึ้นเงินค่างวดแต่ละเดือนสูงขึ้นและอาจสูงที่สุดในรอบกว่า 10 ปี เพื่อให้เพียงพอต่อการตัดเงินต้นและดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์ดังกล่าว ธอส.จะพยายามปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้ช้าที่สุด

ธอส.ได้แถลงผลการดำเนินงานปี 2564 ว่า  ปีที่ผ่านมาเป็นปีแห่งความท้าทายที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19  แต่ ธอส.สามารถช่วยเหลือให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนมีรายได้น้อยถึงปานกลาง มีบ้านเป็นของตนเอง โดย ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2564 สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 246,875 ล้านบาท 181,843 บัญชี เพิ่มขึ้น 9.65% สูงกว่าเป้าหมาย 31,234 ล้านบาท และถือเป็นจำนวนสินเชื่อปล่อยใหม่ที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ 68 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งธนาคาร   ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง วงเงินกู้ไม่เกิน 2 ล้านบาท จำนวน 85,403 ราย คิดเป็น 57% ของจำนวนรายลูกค้าสินเชื่อปล่อยใหม่ ทำให้มียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,458,659 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.40% มีสินทรัพย์รวม 1,506,337 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.04% เงินฝากรวม 1,274,849 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.74% และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 58,381 ล้านบาท คิดเป็น 4% ของยอดสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ซึ่งมี NPL อยู่ที่ 3.75% ของสินเชื่อรวม ซึ่งยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และยังคงมีกำไรสุทธิที่ 12,351 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายเล็กน้อย