ธ.โลกเผยไทยเร่งใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สร้างรายได้ให้ไทยได้มากกว่า 100,000 ล้านบาท

344
0
Share:
เศรษฐกิจ

นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างทักษะสำหรับอนาคตไปพร้อม ๆ กับลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ก่อให้เกิดตลาด ต้องเตรียมพร้อมให้คนรุ่นใหม่เป็นโปรแกรมเมอร์ นักพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล และผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เส้นทางการเติบโตที่ยืดหยุ่น ยั่งยืน และครอบคลุม

รายงานการวิเคราะห์ภาคเอกชนของประเทศไทย (CPSD) โดยบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ และธนาคารโลก ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยต้องส่งเสริมรูปแบบการเติบโตที่ใช้นวัตกรรมใหม่ พร้อมทั้งแก้ไขข้อจำกัดด้านการลงทุนที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อสร้างงานที่ดีขึ้นและบรรลุเป้าหมายในการเป็นประเทศรายได้สูง

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังเผยให้เห็นว่า การเร่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้จะช่วยเพิ่มกระแสเงินทุนไหลเข้า ประเทศไทยประมาณ 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ส่วนใหญ่มาจากการลงทุนใหม่ในเทคโนโลยีคมนาคมขนส่ง บิ๊กดาต้าและการวิเคราะห์ข้อมูล เทคโนโลยีด้านสุขภาพ สื่อดิจิทัล และด้านบันเทิง รวมทั้งการขยายตัวของภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศไทยที่มีศักยภาพอยู่แล้วเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เช่น อีคอมเมิร์ซ เทคโนโลยี ด้านการเงิน (fintech)

ข้อมูลจากรายงานพบว่า การนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้สามารถประหยัดต้นทุนและสร้างรายได้สำหรับภาคเอกชนสูงถึง 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมดั้งเดิม เช่น อาหารและการเกษตร การก่อสร้าง และอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ประเทศไทยอาจจะพิจารณาภาคส่วนต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น การทำเกษตรกรรมฟื้นฟู การแปรรูปขยะอินทรีย์เป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สร้างผลลัพธ์สูง

เจน หยวน ซู ผู้จัดการ บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทยและเมียนมา กล่าวว่า เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์การเติบโตในระดับสูง ประเทศไทยยังต้องแก้ไขข้อจำกัดด้านการลงทุนและข้อจำกัดเฉพาะภาคส่วนซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคเอกชน การปฏิรูปที่สำคัญจะช่วยสร้างงานคุณภาพสูง เพิ่มการมีส่วนร่วมของแรงงานสตรี พัฒนาตลาดนวัตกรรม และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

รายงานยังเน้นย้ำว่าการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการปฏิรูปโครงสร้างจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการ ดำเนินธุรกิจ รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนในนวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีหมุนเวียน จากการวิเคราะห์และการปรึกษาหารือกันอย่างกว้างขวางพบว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งปฏิรูปหลายด้าน เช่น การส่งเสริมการแข่งขันในตลาด การขจัดข้อจำกัดในการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ การเปิดการเข้าถึงนวัตกรรมการเงิน และการขยายทักษะสำหรับอนาคต