“นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี”มองไทยพร้อมแล้วที่จะเปิดเมือง

714
0
Share:

นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและที่ปรึกษานายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ขณะนี้ถึงเวลาเปิดเมืองแล้ว โดยยกปฏิญญาสำคัญของแพทย์ออกมาอธิบายว่า หากเทียบการรักษาการระบาดของโควิดในไทย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 1 เดือน เป็นการใช้ยาแรง คือยาปฏิชีวนะ ซึ่งทำให้การตอบสนองการรักษาได้ผลดี แต่หากใช้ต่อเนื่องจะมีผลกระทบต่อร่างกาย ซึ่ง โดยหลักแล้วแพทย์จะต้องไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย
.
ขณะนี้ประเทศไทยพร้อมแล้ว ที่จะเปิดเมือง เพราะสถานการณ์แนวโน้มในทางสถิติดีขึ้น รวมถึงความพร้อมในระบบการจัดการและอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ถูกจัดเตรียมไว้เพื่อรับมือสถานการณ์ได้ดีกว่าก่อนหน้า แต่หากยังปิดเมืองต่อ จะเป็นอันตรายต่อประชาชนในแง่ของเศรษฐกิจ โดยมองว่า ยิ่งปิดเมืองนานเท่าใด ผลกระทบต่อคนจนและคนชั้นกลางจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น จนทำให้ระบบเศรษฐกิจพังทลาย เพราะเมื่อฐานรากอ่อนแอ ยอดปิรามิดก็จะถล่มลงมาด้วย
.
จริงหรือ?? ที่บางคนบอกว่า วันที่ 1 พฤษภาคม เรายังไม่พร้อม “เปิดเมือง” ทั้งๆที่เราสามารถสร้างมาตรการป้องกันโรคและควบคุมโรคภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดอย่างรัดกุมรอบคอบได้ ตนตอบได้เลยว่า “ไม่จริง” ไม่มีประเทศไหนรอเปิดเมืองในวันที่ผู้ป่วยใหม่เป็นศูนย์ เพราะเรารู้ว่า โควิดยังอาจอยู่กับเราและมีผู้ป่วยใหม่ประปรายไปอีกช่วงหนึ่ง
.
ไม่มีประเทศไหนตัดสินใจเปิดเมืองเพราะเส้นกราฟหรือสูตรคณิตศาสตร์ชี้ว่า “เอาละ…เปิดเมืองได้แล้ว” เพราะไม่เคยมีเส้นกราฟหรือสูตรคณิตศาสตร์ใดๆที่แม่นยำเช่นนั้นจริง
.
เนื่องจากปัจจัยทางการแพทย์และสาธารณสุข ปัจจัยทางวัฒนธรรม การบริหารจัดการ เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องในเรื่องโควิดมีมากมายและซับซ้อนเกินกว่าสูตรคณิตศาสตร์ใดๆจะคำนวณได้
.
ที่สำคัญไทยมีอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) 1,040,000 คนทั่วประเทศที่เฝ้าระวังผู้ติดเชื้อและค้นหาผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย เพื่อกักกันตัว 14 วัน
.
สามารถตรวจ RT-PCR หาเชื้อไวรัสมาแล้ว 142,589 ตัวอย่าง (ตัวเลข ณ วันที่ 17 เมษายน) และมีขีดความสามารถตรวจได้วันละ 20,000 ตัวอย่าง แต่ทุกวันนี้มีผู้เข้าเกณฑ์ตรวจหาเชื้อเพียง 3,000 – 4,000 ตัวอย่าง (ทั้งๆที่เกณฑ์ตรวจเชื้อเปิดกว้างมากแล้ว) ดังนั้นจึงมีขีดความสามารถคงเหลืออีก 16,000 ตัวอย่างต่อวัน
.
.
มีเตียงที่รองรับผู้ป่วยโควิดทั้งประเทศ 15,095 เตียง เป็น เตียง ICU 4,681 เตียง, ห้องแยก Isolation Room 3,748 เตียง, ห้องผู้ป่วยรวม Cohort Ward 4,533 เตียง, Hospitel (กรุงเทพมหานคร) 522 เตียง และเตียงสนาม (ต่างจังหวัด) 1,611 เตียง