นวัตกรรมประเทศไทยทรงตัว 2 ปีติดกัน ยังหวังติด 30 อันดับแรกของโลกในอีก 7 ปีหน้า

214
0
Share:
นวัตกรรม ประเทศ ไทย ทรงตัว 2 ปีติดกัน ยังหวังติด 30 อันดับแรกของโลกในอีก 7 ปีหน้า

องค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO) เปิดเผย ผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก ประจำปี 2566 หรือ Global Innovation Index 2023 (GII 2023) ภายใต้ธีมผู้นำนวัตกรรมท่ามกลางความไม่แน่นอน (Innovation in the face of uncertainty) พบว่า ระดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมของ 132 ประเทศทั่วโลกในปี 2023 นั้น ประเทศไทยยังครองอันดับที่ 43 คงเดิมจากปี 2022 โดยมีปัจจัยเข้าทางนวัตกรรม (Innovation input sub-index) ดีขึ้น 4 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 44 และปัจจัยย่อยผลผลิตทางนวัตกรรม (Innovation output sub-index) ดีขึ้น1 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 43ถือเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนรองจากประเทศสิงคโปร์ (5) และประเทศมาเลเซีย (36)

ทั้งนี้ มีอันดับของกลุ่มปัจจัยขยับขึ้น 5 จาก 7 กลุ่ม โดยกลุ่มที่มีการขยับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นได้แก่ กลุ่มปัจจัยด้านระบบตลาด (Market sophistication)ที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 22 จาก 132 ประเทศ

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า การที่นวัตกรรมของไทยจะสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้นั้น ต้องอาศัยความเข้มแข็งของภาคเอกชนโดยมีภาครัฐเป็นกองหนุนสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นชาตินวัตกรรม และก้าวสู่อันดับที่ 30 ของประเทศที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมของโลกภายในปี 2573

ด้านดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า โดยปีนี้ปัจจัยย่อยผลผลิตทางนวัตกรรมอยู่อันดับที่ 43 (ดีขึ้น 1 อันดับ) ขณะที่ปัจจัยเข้าทางนวัตกรรมดีขึ้น 4 อันดับ จากอันดับที่ 48 ในปีที่ผ่านมาอยู่ในอันดับที่ 44 แต่ยังคงอยู่ท็อป 5 ในกลุ่มประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางระดับบน จาก 36 ประเทศ โดยประเทศไทยมีอันดับที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยในหลายปัจจัย เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 9 จาก 16 ประเทศและยังคงอยู่อันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน

ขณะที่ปัจจัยชี้วัดความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศไทยที่เป็นจุดแข็งมากที่สุด เป็นกลุ่มปัจจัยด้านระบบตลาดอยู่อันดับที่ 22 ปรับตัวขึ้นจากปีที่แล้ว 5 อันดับนอกจากนี้กลุ่มปัจจัยที่มีอันดับดีขึ้น ได้แก่ กลุ่มปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานดีขึ้น 5 อันดับมาอยู่อันดับที่ 49 และกลุ่มปัจจัยด้านผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ ที่ภาพรวมปรับตัวดีขึ้น 5 อันดับมาอยู่ในอันดับที่ 44 โดยมีจุดแข็งด้านการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ (อันดับที่ 1)

ส่วนกลุ่มปัจจัยที่ปรับอันดับลดลงได้แก่ กลุ่มปัจจัยด้านสถาบัน กลุ่มปัจจัยด้านทุนมนุษย์และการวิจัย โดยปัจจัยด้านสถาบันอันดับลดลงมากที่สุดถึง 7อันดับ อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังคงรักษาประสิทธิภาพทางนวัตกรรมที่สะท้อนความคาดหวังตามระดับรายได้ (GDP per capita) คงอยู่ในระดับบวกมีความก้าวหน้าทางด้านนวัตกรรมที่สูงกว่าความคาดหมาย