นักธุรกิจอุตสาหกรรมให้คะแนนนโยบายรัฐบาลเศรษฐาตอบโจทย์ปานกลาง จี้รื้อโครงสร้างพลังงาน

148
0
Share:
นักธุรกิจ อุตสาหกรรม ให้คะแนน นโยบายรัฐบาลเศรษฐา ตอบโจทย์ปานกลาง จี้รื้อโครงสร้างพลังงาน

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 33 ในเดือนกันยายน 2566 ภายใต้หัวข้อ “นโยบายรัฐบาลใหม่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมแค่ไหน” โดยผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 290 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่า จากการแถลงนโยบายรัฐบาลใหม่ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระหว่างวันที่ 11 – 12 กันยายน 2566 ที่ผ่านมานั้น มีนโยบายหลายเรื่องที่น่าสนใจและจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หากภาครัฐสามารถนำไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้จากผลการสำรวจคณะกรรมการ ส.อ.ท. ส่วนใหญ่คิดว่านโยบายของรัฐใหม่สามารถตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมได้ในระดับปานกลาง เนื่องจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการบ้านหลายเรื่องที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาดูแลให้การช่วยเหลือ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ที่ยังไม่สามารถฟื้นตัว ทั้งนี้ในรายละเอียดนโยบายของรัฐบาลใหม่ มีหลายเรื่องที่ ส.อ.ท. ให้ความสนใจและมองว่าจะสร้างผลกระทบต่อการขับเคลื่อนประเทศในด้านต่างๆ ได้ อาทิ ในส่วนของมาตรการเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ ส.อ.ท. ให้ความสำคัญกับมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชนและปรับโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ เป็นลำดับแรก

ส่วนนโยบายด้านเศรษฐกิจ ส.อ.ท. ให้ความสำคัญกับการยกเลิกและปรับปรุงกฎหมายที่ไม่จำเป็น เพื่อสร้างโอกาสให้กับประชาชนในการสร้างรายได้ เป็นลำดับแรก ด้านนโยบายที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร ส.อ.ท. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการวิจัย พัฒนาพันธุ์เพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มมูลค่าภาคการเกษตร ขณะที่นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาด เป็นลำดับแรก โดยนโยบายเหล่านี้เป็นนโยบายที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อสร้างรากฐานที่ดีในการพัฒนาประเทศในระยะถัดไป

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงนโยบายที่ ส.อ.ท. ให้ความสำคัญในการดูแลแรงงาน พบว่า ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ครบทุกสาขาอาชีพ เพื่อให้สามารถจ่ายค่าจ้างได้ตามความสามารถของแรงงาน (Pay by Skills) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ลูกจ้างได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นตามความสามารถ และในส่วนของผู้ประกอบการเองก็ได้ประโยชน์จากประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้นด้วย