นักลงทุนอาเซียนหันลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงสูงขึ้นเป็นครั้งแรก ต้องชดเชยกำไรช่วงโควิด

424
0
Share:
ลงทุน

สถาบันการเงินที่มีชื่อว่า ชโรเดอร์ส เปิดเผยผลการวิจัยที่มีชื่อว่า Global Investor Study พบว่านักลงทุนหันมาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมากขึ้นกว่าที่เคยลงทุนในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในเกือบ 2 ปีผ่านมา

ผลจากการวิจัยดังกล่าวทำการสำรวจความคิดเห็นของนักลงทุนรายย่อยเกือบ 24,000 คนจาก 33 ประเทศกระจายในภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งมี 4 ประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และประเทศไทย

ผลสำรวจพบว่า 40% ของนักลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน มีความสนใจที่จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมากขึ้น ซึ่งเมื่อนำไปเทียบกับค่าเฉลี่ยของผลสำรวจทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 37% ทำให้เห็นว่านักลงทุนในอาเซียนทุ่มการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของนักลงทุนทั่วโลก

สาเหตุจากนักลงทุนมองเห็นความจำเป็นที่จะต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น เพื่อนำผลตอบแทนไปชดเชยจากความไม่แน่นอนที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ ภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกที่ทะยานสูงขึ้นในรอบหลายปีในแถบอาเซียน ทัศนคติเช่นนี้สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในนักลงทุนประเทศไทยมาเป็นประเทศแรกในกลุ่มอาเซียนที่ 42% อันดับสองเป็นอินโดนีเซีย 40% ต่อมาคือสิงคโปร์ 40% และสุดท้ายมาเลเซีย 38%

ปัจจัยของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางที่อยู่ในระดับต่ำ เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ 56% ของผู้ตอบแบบสำรวจในอาเซียน มองว่าจะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น เช่น กองทุนหุ้นที่เน้นลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเฉพาะทาง ในขณะที่ 46% ของนักลงทุนในอาเซียน เมื่อเทียบกับ 33% ของค่าเฉลี่ยของผลสำรวจทั่วโลก ตัดสินใจลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลที่มีความเสี่ยงสูงมาก และยังมีการเติบโตสูงด้วย

ผลสำรวจ ยังพบว่านักลงทุนรุ่นใหม่ทั่วโลกที่มีอายุระหว่าง 18-37 ปี กลับสนใจลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นเพื่อเป้าหมายเน้นสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้นในสถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ หรือกลับติดลบในบางภูมิภาคของโลก

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดังกล่าวกลับแตกต่างออกไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวคือ นักลงทุนหลากหลายช่วงอายุในภูมิภาคนี้สนใจลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงแตกต่างกัน พบว่านักลงทุนในมาเลเซียที่มีอายุ 38-50 ปี มีแนวโน้มที่จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ขณะที่นักลงทุนที่มีอายุน้อยในอินโดนีเซียและสิงคโปร์ และนักลงทุนที่มีอายุมากกว่าในประเทศไทย คือกลุ่มที่พร้อมรับความเสี่ยงจากการลงทุนมากกว่าเดิม

ด้านสินทรัพย์หรือเครื่องมือการเงินที่ได้รับความนิยมลงทุนในอันดับต้นๆ โดยเฉพาะนักลงทุนตัดสินใจลงทุนเป็นครั้งแรกในสินทรัพย์เหล่านี้ในปีที่ผ่านมา ได้แก่ 28% ลงทุนในหุ้นเกี่ยวกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและสกุลเงินดิจิทัล ต่อมาพบว่า 26% เป็นกองทุนเทคโนโลยีชีวภาพหรือเภสัชกรรม และ 25% เกี่ยวกับหุ้นเกี่ยวกับธุรกิจอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี