นักวิชาการมอง กกต. ทำงานช้า แนะประกาศรับรอง ส.ส. ให้ครบ 100% ไม่ต้องรอให้ครบ 60 วัน

226
0
Share:
นักวิชาการ มอง กกต. ทำงานช้า แนะประกาศ รับรอง ส.ส. ให้ครบ 100% ไม่ต้องรอให้ครบ 60 วัน

นายปริญญา เทวานฤมิตกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชนและผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการรับรองผลสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ใช้อยู่นี้ให้เวลา กกต. ทำงานถึง 60 วัน จากเดิมที่รัฐธรรมนูญปี 50 ให้เวลา กกต. เพียง 30 วัน ซึ่งหากเป็นรัฐธรรมนูญปี 50, 40 กกต. ใช้เวลาเพียง 10 กว่าวัน ไม่เกิน 20 วัน ก็ประกาศแล้ว แต่เมื่อรัฐธรรมนูญยืดเวลาให้ 60 วัน กกต. เลยไม่รีบ ซึ่งส่วนตัวมองว่าไม่จำเป็นต้องใช้เวลาจนครบ เพราะหากเลือกตั้งเสร็จแล้ว ไม่มีปัญหา ควรประกาศผลการเลือกตั้ง และถ้าพบว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนไหนมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ซื้อเสียง ทุจริต สามารถส่งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้ ระบบเป็นแบบนี้อยู่แล้ว ไม่ควรต้องใช้เวลาเนิ่นนาน หวังว่าจะไม่ช้ากว่าการเลือกตั้งปี 2562

นายปริญญา ยังได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ยิ่งช้าคนยิ่งสงสัยว่าเลือกตั้งเสร็จทำไมถึงไม่ประกาศรับรอง ส.ส. เพราะระบบของไทยมีปัญหาที่ให้เวลา 60 วัน แต่เมื่อระบบมีปัญหาก็สามารถแก้ไขได้ อย่าใช้เวลาให้นาน หาก 20 วันเสร็จก็ประกาศได้ แต่ขณะนี้ล่วงเลยมา 26 วันแล้ว ถือว่าใช้เวลาพอสมควร เพราะยิ่งช้าคนยิ่งเคลือบแคลง ออกมาตั้งคำถามด้วยความสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบเป็นระบบที่แปลกอยู่แล้ว นอกจากจะให้เวลา 60 วันแล้ว การประกาศยังประกาศไม่ครบให้ 95% ก็ประกาศได้ ให้สภาฯ ประชุมได้ในจำนวน 475 คน

“ตนมองว่าระบบรัฐสภาจัดตั้งรัฐบาลได้ จะต้องได้เสียงข้างมาก โดยกติกาคือพรรคการเมืองรวมเสียงได้เกินครึ่งในสภาฯ จะเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตั้งรัฐบาล แต่พอประกาศผลไม่ครบ ก็จะเกิดปัญหาขึ้นมาได้ เพราะหากประกาศไม่ครบจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงลำดับของพรรคการเมือง ซึ่งจะมีผลในสภาฯ ได้ ซึ่ง กกต. ต้องรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจของตนเองด้วย เพราะการประกาศจะมีผลต่อการใช้อำนาจการจัดตั้งรัฐบาลเ พราะสามารถเปลี่ยนอันดับจากอันดับ 1 เป็นอันดับ 2 ได้ กกต. จึงควรประกาศรับรองผลสภาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ครบ 100% ไปเลย นอกจากจะมี ส.ส.คนใดที่มีหลักฐานชัดเจนเกี่ยวข้องกับการทุจริต ให้เป็นข้อยกเว้น และหากใครที่มีข้อสงสัย ข้อร้องเรียน ก็ทำความเห็นส่งศาลฏีกาแผนกคดีเลือกตั้ง วิธีการนี้จะเป็นธรรมที่สุดต่อ ส.ส.ทุกพรรคทุกคน และเป็นธรรมที่สุดต่อประชาชนด้วย ตอนนี้เลือกตั้งเสร็จไปแล้วแต่ยังไม่มี ส.ส. สักที กกต. ก็ประกาศรับรองผลอย่างเป็นทางการแล้วว่า ส.ส.เขต ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคได้จำนวนเท่าไร แต่ยังไม่ประกาศว่าเป็น ส.ส. สักที แบบนี้ถือว่าช้าเกินไป ” นายปริญญา กล่าว

ส่วนที่ กกต. ให้นับคะแนนใหม่จำนวน 47 หน่วย ในวันที่ 11 มิถุนายนนี้ จะทำให้การประกาศรับรองล่าช้าออกไปอีกหรือไม่ นายปริญญา กล่าวว่า ความจริงปัญหาเรื่องคะแนนเขย่งกับผู้ใช้สิทธิไม่ตรงกันเกิดขึ้นจาก กกต. เอง ไม่ใช่ความผิดของประชาชนที่ไปใช้สิทธิ ซึ่งความเป็นจริงควรที่จะนับใหม่ได้เร็วกว่านี้ ทำไมต้องรอถึงวันที่ 11 มิถุนายน ซึ่งปล่อยล่วงเลยมาเกือบเดือน เพราะหากเกิดความผิดพลาดควรจะดำเนินการได้เร็วกว่านี้ ไม่ใช่ล่าช้าแบบนี้ และทำให้ทุกอย่างช้าไปหมด

โดยเวลานี้สังคมตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการไม่ประกาศรับรอง ส.ส. เพราะอยู่ในช่วงเวลาของการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง ทั้งทหาร ตำรวจ ปลัดกระทรวง จะทำบัญชีกันในเดือนสิงหาคม และจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในเดือนกันยายน หากตามกรอบเวลาเลือกตั้งควรเป็นหน้าที่รัฐบาลใหม่ แต่หากยืดเยื้อไม่สามารถรับรอง ส.ส. ได้ คนที่จะทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายก็จะเป็นรัฐบาลรักษาการขณะนี้ จะกลายเป็นข้อสงสัยว่าที่ กกต. ไม่รีบเป็นเพราะประเด็นนี้หรือไม่ ต่อให้ไม่ใช่ความจริง แต่คนก็จะสงสัย ซึ่งเป็นเรื่องที่ กกต. ควรจะคำนึงถึงด้วย ดังนั้น ควรจะประกาศผลรับรอง ส.ส. ให้เร็วที่สุด ไม่ควรจะช้า ยืดเยื้อไปถึง 60 วัน

อย่างไรก็ตาม กกต. เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่าภายในเดือนมิถุนายน หากเปรียบเทียบกับปี 2562 ก็ภายใน 30 วัน ขณะนี้ต้องรอดูว่าหลังจากการนับคะแนนใหม่วันที่ 11 มิถุนายน จะเป็นอย่างไร คาดว่าน่าจะรอหลังจากนั้นไปอีกสองสัปดาห์จึงจะประกาศรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เหตุผลที่จะล่าช้าไปกว่านี้ก็ไม่ควรแล้ว เพราะยิ่งช้า กกต. ยิ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่ง กกต. ตระหนักเรื่องนี้อยู่แล้ว

ขณะที่กรณีข้อสังเกตว่าการที่ยังไม่รับรอง ส.ส. เป็นเพราะต้องการทอดเวลาให้กับอำนาจพิเศษดีลทางการเมืองให้ลงตัวหรือไม่ นายปริญญา กล่าวว่า สิ่งนี้เป็นข้อสงสัยอีกข้อหนึ่ง และเป็นหนึ่งในอีกหลายประเด็นที่คนตั้งคำถามกับ กกต. และบ้านเมืองที่จะต้องเดินหน้าต่อไป ข้อสงสัยที่มีอยู่เป็นจำนวนมากจะมากขึ้นเรื่อยๆ กกต. จึงควรรีบประกาศรับรอง ส.ส. โดยเร็ว

สำหรับประเด็น กกต. ระบุว่ายังไม่ได้รับพิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณีหุ้นไอทีวีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นั้น นายปริญญาระบุว่า ในแง่ข้อกฎหมายหากผู้สมัครคนไหนมีคุณลักษณะ คุณสมบัติต้องห้าม ก็ต้องรับเรื่อง ตั้งแต่ตอนสมัคร หากจะร้องควรจะไปร้องตั้งแต่เวลานั้น และไปร้องศาลฎีกาให้จบไป หากเลือกตั้งเสร็จแล้ว โดยหลักแล้วต้องเป็นเรื่องการทุจริตทำผิดกฎหมายเลือกตั้งเท่านั้น