นักวิเคราะห์คริปโทมองเงินดิจิทัล 10,000 บาท ท้าทายเงินเฟ้อ กฎหมาย เทคโนโลยีบล็อกเชน

386
0
Share:
นักวิเคราะห์คริปโทมอง เงินดิจิทัล 10,000 บาท ท้าทายเงินเฟ้อ กฎหมาย เทคโนโลยีบล็อกเชน

บริษัท คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ จำกัด (Cryptomind Advisory) ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้ใบอนุญาตที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล ออกมาประเมินนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทย ว่าเป็นมาตรการเฉพาะหน้าที่เป็นรากฐานในการต่อยอดไปสู่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ โดยผู้มีสิทธิ์จะเป็นคนไทย อายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน ซึ่งไม่ต้องลงทะเบียนรับสิทธิ์ เพราะผูกกับบัตรประชาชน และผู้ที่ได้รับสวัสดิการอื่นมาแล้ว เช่น ผู้พิการ คนชรา ก็ยังได้รับด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งจากการที่นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุว่ายังมีความไม่แน่นอนในรายละเอียดของเงื่อนไขนโยบาย ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ในภายหลังตามความเหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น

– ใช้จ่ายในรัศมี 4 กิโลเมตรตามที่อยู่ทะเบียนบ้าน (ต่างจังหวัดอาจรัศมีกว้างกว่า)
– สามารถใช้ซื้ออาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค หรือเครื่องมือทำกิน
– ไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าที่เกี่ยวกับอบายมุข ใช้หนี้ สินค้าออนไลน์ ยาเสพติดและการพนัน (อาจใช้ปลดหนี้เกี่ยวกับเกษตรหรือ กยศ. ได้ แต่ต้องหารือกันอีกที)
– สามารถใช้ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ หรือผ่านเลขบัตรประจำตัวประชาชน + โค้ดส่วนตัว/QR code
– จำกัดระยะเวลาใช้ภายใน 6 เดือน
– คนทั่วไปไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้ (แต่คนรับต้องมีแอปฯ รับเงินคล้ายแอปฯ ถุงเงินและอยู่ในระบบภาษีจะแลกเป็นเงินสดได้ทุกเมื่อ ซึ่งโมเดลนี้อาจเปลี่ยนได้ในอนาคต)

โดยพรรคเพื่อไทยคาดว่าจะเริ่มใช้นโยบายดังกล่าวภายในครึ่งแรกของปี 67 โดยงบประมาณที่ใช้ในโครงการนี้ประมาณ 560,000 ล้านบาท จะถูกนำมาจาก 4 ส่วนหลักคือ

– จากภาษีที่เก็บได้เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศ จากการประมาณของสำนักงานงบประมาณ 260,000 ล้านบาท
– จากภาษีนิติบุคคลและมูลค่าเพิ่มที่ได้จากโครงการนี้ 100,000 ล้านบาท โดยคาดการณ์จากเงินดิจิทัลที่แจกไปจะมีการซื้อขายหมุนเวียนในเศรษฐกิจมากกว่า 2.7 รอบ
– จากการบริหารจัดการงบประมาณเดิมที่ไร้ประสิทธิภาพ 110,000 ล้านบาท
– จากการบริหารงบประมาณสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 90,000 ล้านบาท

ซึ่งพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่านโยบายเงินกระเป๋าเงินดิจิทัลจะต่างจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในอดีตอย่าง เช็คช่วยชาติ, บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, ชิมช้อปใช้ ด้วยเหตุผลหลัก 2 อย่าง คือ การแจกเงินก่อนใหญ่ในครั้งเดียวทำให้ประชาชนมองถึงเรื่องการลงทุนประกอบธุรกิจมากกว่าเพียงซื้อของใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการเก็บข้อมูล ทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น โกงยากขึ้น เก็บข้อมูลที่เชื่อถือได้ และความสามารถในการเขียนโปรแกรมลงบนเงิน (Programmable Money) เช่น การกำหนดขอบเขตในการใช้เงินดิจิทัลรัศมีไม่เกิน 4 กิโลเมตร จากทะเบียนบ้าน เป็นต้น

นอกจากนี้แม้นโยบายดังกล่าวจะหมดลง แต่โครงสร้างบล็อกเชนที่ได้ลงทุนสร้างขึ้นมาจะเป็นรากฐานของระบบการชำระเงินใหม่ที่จะรองรับอนาคต เช่น Retail Central Bank Digital Currency (Retail CBDC) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังทำการ ทดลองก่อนใช้จริง (Pilot test) ในวงแคบไม่เกิน 10,000 คน ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 65 ซึ่งจะสิ้นสุดในไตรมาส 3 ปี 66 นี้ ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงมองเห็นถึงความเหมาะสมที่จะใช้บล็อกเชนเป็นฐานการเก็บข้อมูลมากกว่า การใช้ระบบฐานข้อมูล (Database) แบบทั่วไป

อย่างไรก็ตาม คริปโตมายด์ฯ มองว่ายังมีความเสี่ยง ความเสี่ยงเกิดเงินเฟ้อ เพราะปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้นในทันทีจะทำให้มีแรงซื้อเข้ามาจำนวนมากจนอาจเกิดการดันราคาสินค้าและบริการให้เพิ่มขึ้น ทำให้เงินที่มีอยู่มีอำนาจในการซื้อลดลง หากรัฐบาลไม่สามารถคุมราคาสินค้าในตลาดได้ โดยพนักงานที่ได้เงินเดือนเท่าเดิมจะได้รับผลกระทบ และกดดันมาที่บริษัทที่ต้องขึ้นเงินเดือนพนักงานต่อ หรือธนาคารกลางที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจ อีกทั้งความไม่ชัดเจนในด้านกฎหมาย พรรคเพื่อไทย ระบุว่า เงินดิจิทัลนี้ไม่ใช่ CBDC หรือเงินบาท หรือเงินธนาคารที่ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่จะมีความคล้ายกับ Fiat-backed Stablecoin ที่มีเงินบาทหนุนด้านหลังในอัตรา 1:1 คล้ายกับ USDT หรือ USDC ที่หนุนด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐฯในจำนวนที่เท่ากัน ดังนั้นเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทยที่ใช้บล็อกเชนจึงมีความใกล้เคียงกับ “Utility Token หรือ E-money” แต่ก็มีรายละเอียดที่ยังขัดแย้งด้านกฎหมายอยู่

นอกจากนี้ เทคโนโลยีบล็อกเชน อาจไม่ตอบโจทย์ “Digital Wallet” ก็เป็นได้ เช่น
1. จำนวนธุรกรรมที่ไม่สามารถรองรับได้เพียงพอด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน โดยบล็อกเชนปัจจุบันรองรับจำนวนธุรกรรมได้มากสุด 1,000 ธุรกรรมต่อวินาทีเท่านั้น ในขณะที่พร้อมเพย์รองรับ 5,000 ธุรกรรมต่อวินาที และแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง รองรับได้ 8,000 ธุรกรรมต่อวินาที ซึ่การใช้บล็อกเชนที่รับธุรกรรมได้น้อยกว่าหลายเท่าจึงมีปัญหาคอขวดอย่างแน่นอน

2. บล็อกเชนของรัฐจะเป็นประเภทที่มีผู้บันทึกและตรวจสอบธุรกรรมมีจำนวนน้อย เพราะอำนาจในการบันทึกธุรกรรมของประชาชนทั้งประเทศควรถูกดูแลโดยรัฐเท่านั้น ดังนั้นการกระจายตัวของการสำรองข้อมูล (Backup) ที่อยู่ตามโหนด (Node) ต่างๆ จึงมีไม่มากพอที่จะเรียกว่ากระจายศูนย์ (Decentralization) เท่ากับบิทคอยน์ (Bitcoin) ที่มีหลายหมื่น Node ทั่วโลก

3. ความโปร่งใสและความเป็นส่วนตัว หากบล็อกเชนของพรรคเพื่อไทยเป็นแบบ Public Blockchain ที่ทุกคนสามารถเห็นทุกธุรกรรมที่เกิดบนบล็อกเชนได้ นั่นหมายความว่าแม้เลขบัญชีจะไม่ได้ระบุชื่อเจ้าของ แต่ก็สามารถสังเกตพฤติกรรมจนรู้ได้ว่าใครเป็นเจ้าของ และสามารถรู้ได้ว่าใครมีเงินอยู่ในบัญชีเท่าไร และใช้จ่ายอะไรไปบ้างเมื่อเวลากี่โมง เป็นต้น ซึ่งทำให้ความเป็นส่วนตัวของทุกคนได้หมดลงไป

แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่ต้องการเช่นนั้น ก็จะเป็นแบบ Private Blockchain ที่รัฐเป็นผู้รู้การเคลื่อนไหวทุกธุรกรรมเพียงผู้เดียว ก็จะไม่ต่างอะไรกับระบบฐานข้อมูลทั่วไป และเทคโนโลยีนี้จึงไม่มีจุดเด่นเรื่องความโปร่งใส
ดังนี้เมื่อลองวิเคราะห์ข้อดีอื่นๆ เช่น การเขียนโปรแกรมลงบนเงิน, การตรวจสอบการโกง หรือการ เก็บข้อมูลเพื่อใช้วิเคราะห์ต่อนั้น ในระบบฐานข้อมูลที่ใช้ทั่วไปก็สามารถทำได้แล้ว และมีต้นทุนที่ต่ำกว่ามากอีกด้วย นอกจากว่าต้องการใช้ระบบโครงสร้างบล็อกเชนนี้กับนโยบายอื่นในอนาคต ดังนั้นการใช้บล็อกเชนในนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท อาจจะไม่ตอบโจทย์การใช้งานจริงมากเท่าไหร่ หรืออาจเป็นการลงทุนสูงที่มองในระยะยาว

ดังนั้น นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทยเป็นโครงที่มีความตั้งใจจะกระตุ้นการลงทุนให้ เกิดขึ้นทั่วประเทศ ไม่ได้กระจุกอยู่ในหัวเมืองต่างๆ เท่านั้น โดยคาดหวังว่างบประมาณ 560,000 ล้านบาท จะทำให้เกิดการไหลเวียนในเศรษฐกิจได้กว่า 3 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตามนโยบายนี้อาจจะมีความท้าทายที่ต้องแก้ไขในเรื่องเงินเฟ้อ กฎหมาย และเทคโนโลยีบล็อกเชน