นักศึกษาไทยวัยเจนซีจบใหม่ป้ายแดงกว่า 53% ไม่มีงานทำ งานไม่ตรงกับที่เรียนจบมา งานยังไม่ใช่กับความต้องการ

นักศึกษา ไทย วัยเจนซีจบใหม่ป้ายแดงกว่า 53% ไม่มีงานทำ งาน ไม่ตรงกับที่เรียนจบมา งานยังไม่ใช่กับความต้องการ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สถานการณ์แรงงานในไตรมาส 4 ปี 2567 ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 40.1 ล้านคน ลดลงจากไตรมาส4 ปี 2566 เล็กน้อยที่ 0.4% สำหรับชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยในภาพรวมอยู่ที่ 42.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 42.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่ชั่วโมงการทำงานของภาคเอกชนอยู่ที่ 47.3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 46.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ด้านค่าจ้างแรงงานปรับตัวสูงขึ้น โดยค่าจ้างเฉลี่ยของกลุ่มแรงงานในระบบอยู่ที่ 15,738 บาทต่อคนต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ปี 2566 ที่ 2.3% ขณะที่ค่าจ้างเฉลี่ยในภาพรวมที่รวมกลุ่มแรงงานอิสระอยู่ที่ 15,878 บาทต่อคนต่อเดือน ส่วนค่าจ้างเฉลี่ยของภาคเอกชน อยู่ที่ 14,591 บาทต่อคนต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 3.5%

สำหรับผู้ว่างงานไตรมาส 4 ปี 2567 เพิ่มขึ้น แต่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ โดยผู้ว่างงานมีจำนวนทั้งสิ้น 3.6 แสนคน เพิ่มขึ้น 8.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 0.88% เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่อยู่ที่ 0.81%

ผู้ว่างงานส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักศึกษาจบใหม่อายุ 20 – 24 ปี ซึ่งการว่างงานเพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อนที่ 12.4% และ กลุ่มที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 5.4% ซึ่งกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อนส่วนใหญ่ออกมาจากสาขาการผลิต และสาขาการขายส่ง/ขายปลีก ส่วนกลุ่มที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 53.3% จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา กลุ่มผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนมีประมาณ 1.8 แสนคน โดยเกินครึ่งจบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งมีเหตุผลที่ยังว่างงานที่หลากหลาย เช่น รอไปเรียนต่อ หางานได้ไม่ตรงตามความต้องการ อยากไปเป็นผู้ประกอบการเอง

สำหรับผู้ว่างงานระยะยาวตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเช่นกันที่ 13.0% โดยมีจำนวน 6.7 หมื่นคน ขณะที่มากกว่าครึ่งหรือ 67.6% เป็นผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน สำหรับอัตราการว่างงานในระบบ อยู่ที่ 1.81% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 1.74% โดยมีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานทั้งสิ้น 2.2 แสนคน

ทั้งนี้ภาพรวมปี 2567 อัตราการมีงานทำ ปี 2567 อยู่ที่ 98.6% ทรงตัวจากจากปี 2566 ที่อยู่ที่ 98.7% โดยผู้มีงานทำมีจำนวน 39.8 ล้านคน ลดลงเล็กน้อยจากปี 2566 ที่ 0.3% ซึ่งเป็นผลมาจากการหดตัวของการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ปรับลดลง 4.4% ขณะที่สาขาการขนส่ง/เก็บสินค้าขยายตัวได้ดีที่ 10.1% และสาขาโรงแรม/ภัตตาคาร ขยายตัวได้ดีที่ 7.7%

ด้านชั่วโมงการทำงานทั้งในภาพรวมเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 42.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และชั่วโมงการทำงานในภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 46.3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขณะที่อัตราการว่างงานในปี 2567 อยู่ที่ 1.00% ใกล้เคียงกับปี 2566 ที่อยู่ที่ 0.98%

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles