นายจ้างชี้นโยบายรัฐบาล มีหลายข้อตรงใจ แต่อยากเห็นความชัดเจน โดยเฉพาะนโยบายแก้ไขหนี้

187
0
Share:
นายจ้าง ชี้ นโยบาย รัฐบาล มีหลายข้อตรงใจ แต่อยากเห็นความชัดเจน โดยเฉพาะนโยบาย แก้ไขหนี้

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย หรือ อีคอนไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนจับตาการแถลงนโยบายของรัฐบาลในวันนี้ เพราะดูจากหลายนโยบายที่ประกาศเอาไว้ก่อนตั้งแต่ช่วงหาเสียงและก่อนถึงวันแถลงนโยบาย มีหลายนข้อที่ตรงใจภาคเอกชน โดยเฉพาะนโยบายแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ เช่น การเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นการบริโภคในประเทศ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีรายละเอียดนโยบายยังชัดเจน เช่น นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท แม้รัฐบาลนายเศรษฐาจะย้ำมาตลอดว่า เป็นนโยบายหลักที่จะผลักดันทันที แต่ยังไม่เห็นที่มาของเงินงบประมาณ จึงไม่รู้ว่าจะเพิ่มกำลังซื้อได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็หวังว่า การแถลงนโยบายของรัฐบาลในวันนี้ จะทำให้เห็นภาพชัดขึ้น

นอกจากนี้ นายธนิต ระบุด้วยว่า ภาคเอกชนยังอยากเห็นความชัดเจนจากนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สิน หลังจากที่รัฐบาลประกาศจะเร่งแก้หนี้ให้กับกลุ่มเกษตรกรด้วยการพักชำระหนี้ ก็อยากจะเห็นการเร่งแก้ปัญหานี้ให้กับลูกหนี้กลุ่มอื่นด้วย โดยเฉพาะหนี้ภาคครัวเรือน เช่น หนี้กู้ซื้อบ้าน หนี้รถยนต์ และหนี้บัตรเครดิต รวมทั้งต้องเร่งแก้หนี้ในภาคธุรกิจ หาแนวทางช่วยเสริมสภาพคล่อง โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี และรายย่อย เพราะหากรัฐบาลแก้ปัญหาหนี้ได้ ทำให้ทุกคนมีสภาพคล่องดีขึ้น จะทำให้กำลังซื้อในประเทศดีขึ้นตามไปด้วย

ส่วนมาตรการพักชำระหนี้นั้น มีรายงานข่าวจากกระทรวงการคลังว่า จะให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ออกมาตรการพักชำระหนี้ 3 ปี โดยพักทั้งในส่วนเงินต้นและอัตราดอกเบี้ย เน้นในกลุ่มลูกหนี้ที่เป็นเกษตรกร และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่มีมูลหนี้หลักแสนบาท ไปจนถึง 1 ล้านบาท เพื่อเป็นการบรรเทาภาระให้แก่ลูกหนี้กลุ่มนี้ โดยลูกหนี้ที่เข้ามาตรการจะไม่ถูกจัดชั้นเป็นลูกหนี้เอ็นพีแอล เนื่องจากรัฐบาลจะเป็นผู้สนับสนุนภาระการจ่ายอัตราดอกเบี้ยให้แทน โดยแนวทางดังกล่าว ได้มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ รัฐบาลยังต้องการให้กระทรวงการคลังเข้าไปดูแลลูกหนี้ในกลุ่มที่เป็นหนี้สหกรณ์ หนี้ครู หนี้ตำรวจ และหนี้นอกระบบ โดยให้ดำเนินการผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินรัฐ ส่วนการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกของรัฐบาลเศรษฐา 1 ในวันที่ 13 กันยายนนี้ มีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนที่ต้องติดตามหลายเรื่อง โดยเฉพาะนโยบายลดราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง จะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยอาจจะลดค่าไฟฟ้าลงได้ 38 สตางค์ต่อหน่วยทำให้ค่าไฟฟ้าอาจจะอยู่ที่ 4.07 บาทต่อลิตร จากงวดปัจจุบัน (กันยายน – ธันวาคม 2566) อยูที่ 4.45 บาทต่อลิตร ซึ่งการลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง กำลังพิจารณาว่าจะใช้การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน หรือใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาอุดหนุน หรือใช้ทั้งสองมาตรการควบคู่กัน