นายจ้างรับไม่ไหวค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาท ชี้หากค่าจ้างสูงเกินไปจะทำลูกจ้างเสี่ยงตกงาน

587
0
Share:
ค่าแรงขั้นต่ำ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เข้าใจความต้องการของกลุ่มแรงงาน เนื่องจากปัจจุบันราคาสินค้าและค่าครองชีพสูงขึ้นมาก แต่ในความเป็นจริงค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน ดังนั้นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราเดียวกันทั่วประเทศ 492 บาท คงเป็นไปได้ยาก และหากปรับขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม ก็จะกระทบต่อแรงงานเอง เพราะหากค่าจ้างสูงเกินไป จนทำให้ผู้ประกอบการแบกรับไม่ไหว ก็จะนำไปสู่การปรับขึ้นราคาสินค้า และหากเศรษฐกิจไม่ดี สงครามยืดเยื้อ จำหน่ายสินค้าไม่ได้ ก็จะนำไปสู่การเลิกจ้างในที่สุด

ขณะที่นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้างฯ กล่าวว่า การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการไตรภาคี โดยต้องพิจารณาจาก
ภาวะเศรษฐกิจ อัตราเงินเพ้อ และความสามารถในการจ่ายค่าจ้างของนายจ้างสำหรับเรียกร้องขอปรับขึ้นเป็น 492 บาททั่วประเทศ หากยึดค่าจ้างขั้นต่ำใน กทม.ปัจจุบัน ที่ 331 บาทต่อวัน เท่ากับ ปรับขึ้นไปถึงวันละ 161 บาท หรือ ขึ้นถึง 48.6% ซึ่งเป็นอัตราที่นายจ้างรับไม่ไหว

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่า เห็นใจแรงงาน ที่ได้รับผลกระทบจากข้าวของแพง แต่สถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ยังไม่ดีขึ้น จึงไม่ใช่เวลาที่จะปรับขึ้นค่าจ้าง โดยเสนอว่า หากรัฐบาลต้องการดูแลแรงงาน สามารถเลือกให้ความช่วยเหลือแรงงานเฉพาะกลุ่ม ที่ได้รับความเดือดร้อน ในระยะสั้น 3 เดือนเป็นต้น