“น้ำพุโซดา”คุณภาพดีกว่าน้ำแร่จากต่างประเทศ

953
0
Share:

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ ทส. แถลงผลการตรวจสอบ สภาพของน้ำพุที่เกิดจากการขุดเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่หมู่ 19 บ้านทุ่งคูณ จังหวัดกาญจนบุรี ที่มีรสชาติเหมือนน้ำดื่มที่ใสสะอาดทั่วไป แต่กลับมีรสซ่าคล้ายกับโซดา
.
ซึ่งที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้มีการทดสอบเก็บน้ำพุดังกล่าวไว้ข้ามคืน และพบว่าน้ำเกิดการเปลี่ยนสีเป็นขุ่นๆ ออกน้ำตาล และมีกลิ่น จึงได้มีการเตือนประชาชนในพื้นที่ว่าการดื่มน้ำดังกล่าวอาจจะไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพของผู้ที่นำไปดื่ม
.
ล่าสุดผลการตรวจสอบจากห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ของกรมทรัพยากรน้ำ น้ำดังกล่าว พบว่ามีปริมาณสารไบคาร์บอเนตสูงกว่าปกติ ซึ่งทำให้เกิดรสชาติซ่า และไม่พบสารพิษปนเปื้อน แต่จะมีธาตุเหล็กที่ทำให้น้ำมีสี และมีปริมาณสูง
.
โดยน้ำพุบาดาลที่ขุดได้ มีการนำน้ำแร่ที่มาจากประเทศเยอรมันราคา 3,000 บาท ที่มีขายในท้องตลาด มาทำการทดสอบเปรียบเทียบ ซึ่งพบว่าน้ำพุบาดาลมีแร่ธาตุที่มีคุณภาพดีมากกว่าน้ำแร่จากต่างประเทศ โดยมีการทดสอบถึงสามครั้ง พบว่ามีค่าไบคาบอเนตสูงกว่า 2 เท่า รวมถึงมีธาตุเหล็ก
.
ส่วนกรณีทิ้งไว้แล้วมีสีนั้นถือเป็นปกติ เพราะมีธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบ ซึ่งจะต้องกรองตะกอนเหล็กออกก่อน จึงจะสามารถดื่มกินได้ โดยเตรียมที่จะขุดเพิ่มอีก 3 บ่อ และสร้างระบบกระจายน้ำเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในการเกษตรและการบริโภค
.
สำหรับบ่อน้ำดังกล่าว เป็นการเจาะลงไปที่ลึกประมาณ 303 เมตร เพื่อสำรวจพื้นที่เจาะน้ำบาดาล ตามโครงการสำรวจศึกษาและพัฒนาน้ำบาดาลในแหล่งกักเก็บในหินแข็งระดับลึกในพื้นที่ธรณีวิทยาโครงสร้างซับซ้อน ต.ห้วยกระเจา อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี จำนวน 21 หมู่บ้าน โดยปัจจุบันยังคงมีน้ำพุ่งขึ้นมาเป็นน้ำพุ และจากการตรวจสอบไม่พบว่าแรงดันน้ำลดลงแต่อย่างใดโดยปริมาณน้ำที่ตรวจวัดได้นั้นมีปริมาณน้ำ 1,200 ลบ.ม./บ่อ
.
ซึ่งคาดว่ามีปริมาณน้ำ 500 ล้านลบ.ม. สามารถนำมาใช้อย่างจำกัดได้อยู่ที่ 2,400 ลบ.ม./วัน รวมแล้วจะสามารถแจกจ่ายน้ำให้กับประชาชนใช้สำหรับแก้ไขภัยแล้งได้ 500,000 ลบ.ม.ต่อปี ซึ่งกรมน้ำบาดาลจะเข้าไปพัฒนาให้เป็นระบบบาดาลระยะไกล และจะประกาศให้เป็นเขตควบคุมน้ำบาดาล ทำระบบการกระจายน้ำให้เกษตรกร ครอบคลุมพื้นที่ 3,000 ไร่