น้ำมันดิบตลาดอังกฤษพุ่งกระฉูดสูงสุดระหว่างวันเฉียด 140 ดอลล์ ไนเม็กซ์ทะลุ 130 ดอลล์

401
0
Share:
น้ำมันดิบ

ตลาดซื้อขายสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าในตลาดโลก ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม 2565 พบว่า ราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ นิวยอร์ก สหรัฐ เคลื่อนไหวสูงสุดระหว่างวันที่ 130.50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล +14.64 ดอลลาร์/บาร์เรล หรือ +8.54% ก่อนจะอ่อนลงมาเคลื่อนไหวที่ระดับ 125 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ทำสถิติราคาน้ำมันดิบสูงสุดในรอบ 14 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ในสัปดาห์ที่ผ่านไป ราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ทะยาน 26.3% ทำสถิติน้ำมันดิบรายสัปดาห์ทำสถิติที่สูงสุดในรอบ 39 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 1983 เป็นต้นมา
ล่าสุด เมื่อเวลา 7.30 น.(เวลาไทย) ราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ สหรัฐ ในตลาดเอเชีย เคลื่อนไหวก่อนเปิดซื้อขาย ที่ระดับ 125.76 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล +10.08 หรือ +8.71%

สอดคล้องกับ ราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ เคลื่อนไหวสูงสุดระหว่างวันที่ 139.13 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล +21.02 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ +11.78% ก่อนจะอ่อนลงมาเคลื่อนไหวที่ระดับ 128.83 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล +10.67 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ +9.10% ส่งผลทำสถิติราคาน้ำมันดิบสูงสุดนับตั้งแต่พฤษภาคม 2012 หรือในรอบ 9 ปี 9 เดือน ในสัปดาห์ที่ผ่านไป ราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ ทะยาน 25.5% ทำสถิติน้ำมันดิบรายสัปดาห์ทำสถิติที่สูงสุดในรอบ 31 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 1991 เป็นต้นมา

ล่าสุด เมื่อเวลา 7.30 น.(เวลาไทย) ราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ เคลื่อนไหวก่อนเปิดซื้อขายที่ระดับ 129.07 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล +10.96 หรือ +9.28%
สาเหตุจากรายงานข่าวรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และพันธมิตรในยุโรป กำลังพิจารณาใช้มาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศรัสเซีย เพื่อเป็นมาตรการคว่ำบาตรด้านพลังงานชุดใหม่กับรัสเซีย หลังจากกองทัพรัสเซียยังคงโจมตีในประเทศยูเครนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวทั้ง 2 ฝ่าย ที่พบว่ารัสเซียละเมิดข้อตกลงหยุดยิง

ขณะเดียวกัน รัฐบาลแคนาดาเป็นประเทศแรกที่ตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรด้านน้ำมันดิบกับรัสเซีย ด้วยการยกเลิกนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านไป

ทั้งนี้ วิกฤตสถานการณ์รุนแรงระหว่างรัสเซียกับยูเครน และการคว่ำบาตรจากนานาชาติทั่วโลก ยังคงกดดันราคาน้ำมันดิบโลกต่อเนื่อง นอกจากนี้ สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ เปิดเผยรายงานภาวะน้ำมันดิบโลก พบว่าตลาดน้ำมันดิบยังคงตึงตัวต่อเนื่องหลังจากกลุ่มโอเปกพลัสมีมติเพิ่มกำลังการผลิตอีก 400,000 บาร์เรลในเดือนมีนาคม โดยทั่วโลกต้องการใช้น้ำมันดิบปี 2565 สูงถึง 100.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน