บริษัทลังเลย้ายเข้าทำงานในสำนักงาน อนาคตธุรกิจไม่แน่นอน ฉีดวัคซีนที่ยังไม่มีความชัดเจน

450
0
Share:

นายปัญญา เจนกิจวัฒนาเลิศ กรรมการผู้บริหารและหัวหน้าส่วนงานพื้นที่พาณิชยกรรม บริษัทไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดอาคารสำนักงานให้เช่าในอนาคตของไทย พบว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 คาดว่าจะมีพื้นที่สำนักงานเข้าสู่ตลาดเพิ่มอีก 175,800 ตร.ม.  สาเหตุจากมีโครงการใหม่ 9 แห่งสร้างแล้วเสร็จ ประมาณ 60% ของอุปทานใหม่คาดไว้ว่าจะอยู่ในย่านศูนย์กลางธุรกิจ

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีอุปทานใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 157,000 ตร.ม.ในแต่ละปี ในทางเปรียบเทียบ หากการเปิดตัวในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ถึง 2569 เป็นไปตามแผนที่วางไว้ อุปทานของตลาดอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯจะเติบโตรวม 1.67 ล้านตารางเมตร หรือเฉลี่ย 302,000 ตร.ม. ต่อปี (ไม่รวมการถอดถอนอาคาร) นักพัฒนายังไม่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของตลาดในปีที่ผ่านมา และยังคงส่งมอบโครงการตามกำหนดเวลาและประกาศเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการในอนาคตอีกด้วย

ด้านความต้องการนั้น หากมองในแง่ดี  อัตราการเช่ายังคงแสดงสัญญาณการฟื้นตัว เนื่องจากมีการเช่าพื้นที่เพิ่มขึ้น 61% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็น 78,000 ตร.ม. ระดับนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ 67,000 ตร.ม. ต่อไตรมาส ในขณะที่มีพื้นที่ว่าง 57,100 ตร.ม. นับว่าเป็นไตรมาสที่ 4 แล้วที่ปริมาณการเช่าพื้นที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน เนื่องจากมีการใช้พื้นที่มากกว่าจำนวนพื้นที่ว่าง ดังนั้นค่าการดูดซับสุทธิอยู่ที่21,000 ตร.ม. นับเป็นไตรมาสแรกที่การดูดซับสุทธิเป็นบวกตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2563 อย่างไรก็ตาม ควรให้ความสำคัญกับอุปทานที่เพิ่มขึ้น 106,500 ตร.ม.ในช่วงเวลาเดียวกันด้วย เพราะแสดงให้เห็นว่าช่องว่างระหว่างอุปสงค์และอุปทานยังคงกว้างขึ้นเรื่อยๆ

อัตราการครอบครอง หรืออัตราการเช่าสำนักงานของตลาดลดลง 1.2% เป็น 83% ซึ่งเป็นอัตราการครอบครองที่ต่ำที่สุดของตลาดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และเป็นไตรมาสที่ 9 ที่อัตราการครอบครองลดลงติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง โดยเปรียบเทียบแล้ว อัตราการครอบครองเฉลี่ย 10 ปีอยู่ที่ 90%

พื้นที่ทุกเกรดในตลาดอาคารสำนักงานยังคงมีผลประกอบการต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวของแต่ละเกรด แต่ที่น่าสนใจคือในขณะที่อัตราการครอบครองลดลง 1.5% สำหรับเกรด B และ 1.8% สำหรับเกรด C แต่กลับเพิ่มขึ้น 0.3% สำหรับเกรด A  การเก็บค่าเช่าสำหรับพื้นที่เกรด A ที่ลดลงอาจเป็นปัจจัยดึงดูดผู้เช่าบางราย เพราะเป็นการเพิ่มความสามารถในการใช้จ่ายที่มากขึ้นของผู้เช่าที่ต้องการพื้นที่คุณภาพสูง

อัตราการการครอบครองสำหรับย่านศูนย์กลางธุรกิจทั้งหมดลดลง 0.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนอย่างไรก็ตาม อัตราการครอบครองเพิ่มขึ้นสำหรับย่านเพลินจิต – ชิดลม – วิทยุ และนานา – อโศก – พร้อมพงษ์ โดยเพิ่มขึ้น 1.2% และ 0.2% ตามลำดับ ขณะที่อัตราการครอบครองนอกย่านศูนย์กลางธุรกิจ ลดลง 1.9%  มีเพียงแค่ย่านพหลโยธิน – วิภาวดี ที่มีการเติบโต โดยมีอัตราการครอบครองเพิ่มขึ้น 0.9%

สำหรับอัตราค่าเช่านั้น ปรากฏว่าราคาเช่าเฉลี่ยเกือบจะคงที่จากไตรมาสแรก โดยลดลงเพียง 1 บาทเป็น 791 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน เจ้าของอาคารส่วนใหญ่ยังคงราคาเช่าไว้ที่เดิม แต่เปิดโอกาสให้ผู้เช่าทำการเจรจาต่อรองมากขึ้น ในบางสัญญาเช่า อัตราเช่าที่แท้จริง (effective rate) จะต่ำกว่าราคาเช่า ถึง 30% ราคาเช่าเฉลี่ยในขณะนี้ลดลง 1.3% ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่เพิ่มขึ้น  3.8% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ราคาเช่าเฉลี่ยของพื้นที่อาคารสำนักงานเกรด A ลดลง 0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ในขณะเดียวกัน มีการเพิ่มขึ้น 0.6% สำหรับเกรด B และ 1.3% สำหรับเกรด C

ราคาเช่าเฉลี่ยลดลง 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนสำหรับอาคารในย่านศูนย์กลางธุรกิจ มีเพียงทองหล่อ – เอกมัย – พระโขนงเท่านั้นที่มีค่าเช่าสูงขึ้น เนื่องจากเป็นเพียงย่านเดียวที่มีอัตราค่าเช่าเฉลี่ยสูงขึ้นทั้งรายไตรมาสและรายปี ในขณะเดียวกัน ราคาเช่าเฉลี่ยสำหรับอาคารนอกย่านศูนย์กลางธุรกิจเพิ่มขึ้น 1.5% ในช่วงเวลาเดียวกัน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการสร้างอาคารใหม่ 2 แห่งที่แล้วเสร็จ ซึ่งมีราคาสูงกว่าอัตราค่าเช่าเฉลี่ยของตลาดในย่านนี้  โดยบ่งชี้จากการเพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ในย่านเพชรบุรี – พระราม 9 – รัชดา

ขณะที่ในไตรมาส 2 ปี 2564 เราเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของอุปสงค์ในตลาดอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มาจากการให้เช่าอาคารใหม่ที่มีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง แต่ผลการดำเนินงานในวงกว้างของทั้งตลาดยังไม่มีการปรับตัวที่ดีขึ้นนัก หากตลาดยังคงอัตราการดูดซับสุทธิเป็นบวกตลอดทั้งปี ก็จะทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวของอุปสงค์ที่แข็งแกร่งมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าการฉีดวัคซีนจะต้องบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ และสามารถควบคุมการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ได้ภายในปีนี้

กรรมการผู้บริหารและหัวหน้าส่วนงานพื้นที่พาณิชยกรรม บริษัทไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ตลาดอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ ยังคงเคลื่อนตัวออกจากจุดสูงสุดของวัฏจักร เนื่องจากอัตราการครอบครองลดลง และราคาเช่าลดลงสำหรับพื้นที่ส่วนใหญ่ ตลาดของผู้เช่าที่เราเห็นในไตรมาส 1 ปี 2564 แข็งแกร่งขึ้นเนื่องจากช่องว่างระหว่างอุปสงค์และอุปทานยังคงขยายกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต่อให้อุปสงค์จะกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ผู้เช่าก็ยังมีแนวโน้มที่จะมีอำนาจต่อรองที่แข็งแกร่งจากอุปทานที่มีมาก โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีข้างหน้า