บริษัทสตาร์คชักดาบหนี้-ถูกต่างชาติฟ้อง นักลงทุนถอยซื้อหุ้นกู้บริษัทไทยขนาดกลางถึงเล็ก

241
0
Share:
บริษัท สตาร์ค ชักดาบ หนี้ -ถูกต่างชาติฟ้อง นักลงทุนถอยซื้อหุ้นกู้บริษัทไทยขนาดกลางถึงเล็ก

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า กรณีการผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้ของ บมจ. สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนในบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ไม่มีเครดิตเรตติ้งหรือมีเครดิตเรตติ้งต่ำ เป็นผลจากความกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการชำระหนี้ สะท้อนจากนักลงทุนให้ความสนใจลดลง จะเห็นได้จากมียอดจองซื้อหุ้นกู้ไม่คึกคักเมื่อเทียบกับอดีตผ่านมา

ด้านภาพรวมของตลาดตราสารหนี้ การออกหุ้นกู้จากบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงยังได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ดังนั้น เหตุการณ์การผิดนัดชำระหนี้จากบริษัท STARK ไม่ได้กระทบความเชื่อมั่นต่อการลงทุน และบริษัทที่มีเครดิตเรตติ้งระดับสูงสะท้อนว่ามีความมั่นคงทางการเงินสูง และมีความสามารถในการชำระหนี้ให้นักลงทุนได้ จากเกณฑ์การให้เครดิตเรตติ้งของบริษัทจัดอันดับที่พิจารณาจากสถานะทางการเงินของบริษัทเป็นหลัก

รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวเตือนว่า กรณีของบทจ. STARK ซึ่งก่อนหน้านี้มีเครดิตเรตติ้งเป็น “Investment Grade” หรืออยู่ในระดับการลงทุนได้ แต่การจัดอันดับไม่ได้เป็นส่วนทั้งหมดของการพิจารณาลงทุน เพราะไม่ได้สะท้อนถึงปัญหาของการบริหารงาน ความตรงไปตรงมา และธรรมาภิบาลของบริษัท เพราะฉะนั้น นอกจากจะดูตัวบริษัท และฐานะการเงิน รายได้ กำไร และภาพรวมอุตสาหกรรม ที่เห็นได้จากงบการเงินแล้ว ยังต้องพิจารณาจากประวัติของบริษัท การดำเนินธุรกิจ และที่มาของผู้บริหารเพิ่มเติมด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงเช้าวันนี้ 12 มิถุนายน 2566 บริษัทสตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ทำหนังสือชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับเรื่องการใช้สิทธิเพิกถอนของบริษัทฯ ในฐานะผู้ซื้อภายใต้สัญญาซื้อขายหุ้นระหว่างบริษัทกับ LEONI AG และ LEONI Bordnetz-Systeme GmbH (“สัญญาซื้อ ขายหุ้น”) ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2565

สืบเนื่องจากการใช้สิทธิเพิกถอนสัญญาซื้อขายหุ้น เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 ทาง LEONI AG และ LEONI BordnetzSysteme GmbH (รวมเรียกว่า “ผู้เรียกร้อง”) ได้ยื่นเสนอข้อพิพาทเกี่ยวกับการใช้สิทธิเพิกถอนสัญญาซื้อขายหุ้นดังกล่าว ต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการแห่งประเทศเยอรมนี (German Arbitration Institute (DIS))

ทั้งนี้ ผู้เรียกร้องได้ประเมินจำนวนเงินที่เรียกร้องรวมเป็นจำนวน 608,000,000 ยูโร (หรือประมาณ 22,619 ล้านบาท) โดยผู้เรียกร้อง อ้างว่าบริษัทได้ละเมิดภาระผูกพันตามสัญญาซื้อขายหุ้นและเรียกร้องให้บริษัทฯ ชำระราคาซื้อขายหุ้น ภายใต้สัญญาซื้อขายหุ้นเป็นจำนวนเงิน 598,000,000 ยูโร (หรือประมาณ 22,247 ล้านบาท) พร้อมทั้งชำระค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นจำนวน 10,000,000 ยูโร (หรือประมาณ 372 ล้านบาท)