บริษัท STARK ร่ายยาวไม่ได้ทำการภายใต้คำสั่งผู้ถือหุ้น โวกำลังเอาผิดใครที่มีเอี่ยว

334
0
Share:
บริษัท STARK ร่ายยาวไม่ได้ทำการภายใต้คำสั่งผู้ถือ หุ้น โวกำลังเอาผิดใครที่มีเอี่ยว

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) โดยนายอภิชาต ตั้งเอกจิต กรรมการ STARK แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่อง ชี้แจงรายการปรับปรุงงบการเงินที่สำคัญในงบการเงินรวมของบริษัทและบริษัทย่อยที่ผ่านการตรวจสอบ ประจำปี 2565 มีรายละเอียดดังนี้

ตาม STARK ได้เปิดเผยงบการเงินรวมของบริษัทและบริษัทย่อยที่ผ่านการตรวจสอบประจำปี 2565 ผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2566 และได้มีการเปิดเผยรายการปรับปรุงงบการเงินที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับรายการผิดปกติในงบการเงินของ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) ในข้อย่อยที่ 1.1 ข้อย่อยที่ 1.4 และข้อย่อยที่1.5 ของหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 3 ของงบการเงินฉบับตรวจสอบประจำปี 2565 บริษัทขอเรียนชี้แจง ดังนี้

1. การตรวจสอบธุรกรรมที่ผิดปกติ เมื่อผู้สอบบัญชีตรวจพบความผิดปกติของรายการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้า และรายการรับชำระหนี้ ลูกหนี้การค้าของ PDITL และได้แจ้งให้บริษัททราบ คณะกรรมการและผู้บริหารชุดใหม่ จึงได้สั่งการให้มีทำการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) ควบคู่ไปกับการขยายผลการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินที่ผิดปกติ (forensic accounting) โดยผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง

จากการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดของทั้ง 3 ฝ่าย จึงทำให้ทราบถึงลักษณะการทำรายการที่ผิดปกติ จำนวนเงินและบุคคลที่เกี่ยวข้อง (ตามข้อมูลที่จะได้เปิดเผยในข้อ 2 ด้านล่าง) ทั้งนี้ คณะกรรมการและผู้บริหารชุดใหม่ต่างก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาดังกล่าว โดยได้ทำการปรับปรุงรายการบัญชีที่เกี่ยวข้องเพื่อให้งบการเงินฉบับตรวจสอบประจำปี 2565 สะท้อนสถานะทางการเงินที่แท้จริงของบริษัท

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการสอบสวนกรรมการ ผู้มีอำนาจทำธุรกรรมทางการเงินของบริษัทและ PDITL ณ ขณะนั้น เพื่อสอบข้อเท็จจริงและหาหลักฐานที่เกี่ยวข้องประกอบการดำเนินคดีจนถึงที่สุดกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมที่ผิดปกติ และทำให้บริษัทเสียหายทั้งหมด

2. ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกรรมที่ผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับ PDITL และบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เมื่อตรวจสอบรายการทางบัญชีที่ผิดปกติของ PDITL จึงพบว่ามีรายการที่ PDITL ได้บันทึกบัญชีเป็นค่าซื้อวัตถุดิบ แต่ PDITL ไม่ได้จ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้การค้า (supplier) ที่แท้จริง และ PDITL ได้โอนเงินค่าซื้อวัตถุดิบดังกล่าวให้แก่ บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (APDE)

โดย APDE ได้โอนเงินบางส่วนกลับมายัง PDITLเพื่อชำระเงินในนามลูกหนี้การค้าที่ไม่มีอยู่จริง ทั้งนี้ โปรดพิจารณาหมายเหตุงบการเงินข้อ 3 (รายการปรับปรุงที่สำคัญฯ-ในข้อย่อยที่ 1.1 ข้อย่อยที่ 1.4 และข้อย่อยที่ 1.5) ประกอบกับหมายเหตุงบการเงินข้อ 12 (ลูกหนี้การค้าฯ) หน้า 2 จาก 2

อนึ่ง ตามที่ได้ปรากฏในงบการเงินว่าบริษัท APDE เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท นั้น บริษัทขอเรียนชี้แจงว่าการทำรายการที่ผิดปกติทั้งหมดเกิดขึ้นในเดือน ธ.ค.2565 และเป็นการดำเนินการภายใต้อำนาจของคณะกรรมการผู้มีอำนาจ และผู้บริหารที่ดำรงตำแหน่งและมีอำนาจสั่งการอยู่ในขณะนั้นของ APDE ซึ่งมีอำนาจ หน้าที่ในการดำเนินงานประจำ (day-to-day operation) ของ APDE

การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้ทำภายใต้คำสั่งของผู้ถือหุ้น และไม่ได้อยู่ในอำนาจของผู้ถือหุ้น ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินงานประจำ (day-to-day operation) ของบริษัท APDE แต่อย่างใด ทั้งนี้ เมื่อคณะกรรมการและผู้บริหารชุดใหม่ได้รับทราบเกี่ยวกับธุรกรรมอันผิดปกติดังกล่าว ก็ได้ดำเนินการเปลี่ยนตัวกรรมการและกรรมการผู้มีอำนาจลงนามในวันที่ 8 พ.ค.2566

3. แนวทางในการดำเนินการของบริษัทเกี่ยวกับธุรกรรมที่ผิดปกติ บริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินกระบวนทางกฎหมายเพื่อเอาผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมที่ผิดปกติและทำให้บริษัทเสียหาย โดยบริษัทจะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นกรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในการตรวจสอบและดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าว

และเมื่อได้รับผลสรุปการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) และการขยายผลการตรวจสอบธุรกรรม ทางการเงินที่ผิดปกติ (forensic accounting) จากผู้สอบบัญชี และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องก็จะนำส่งข้อมูลดังกล่าว ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินดดีกับกระบวนทางกฎหมายเพื่อเอาผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมที่ผิดปกติ และทำให้บริษัทเสียหายดังกล่าว

ทั้งนี้ หากมีความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติมบริษัทจะได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและนักลงทุนต่อไป

ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ (ตลท.) ได้แจ้งเรื่องการดำเนินการกับ STARK กรณีส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ และขอให้ผู้ลงทุนใช้ความระมัดระวังในการซื้อขายหลักทรัพย์ STARK โดยมีเนื้อหาว่า ตามที่ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น ไม่สามารถนำส่งงบการเงินประจำปี 2565 และงบการเงินไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด จนเป็นเหตุให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเครื่องหมาย SP (Suspension) เพื่อสั่งห้ามซื้อหรือขายหลักทรัพย์ STARK ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2566

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2566 STARK ได้นำส่งงบการเงินประจำปี 2565 ซึ่งผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีมายังตลาดหลักทรัพย์ฯ และปรากฏว่าส่วนของผู้ถือหุ้นปี 2564 (ปรับปรุงใหม่) และปี 2565 มีค่าน้อยกว่าศูนย์เป็นจำนวน 2,895 ล้านบาท และ 4,415 ล้านบาท ตามลำดับ ส่งผลให้หลักทรัพย์ STARK มีเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าด้วยการเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน

เพื่อให้เป็นไปตามความในข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าด้วยการเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน และประกาศตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าด้วยแนวทางดำเนินการเพื่อแก้ไขเหตุแห่งการเพิกถอนหุ้นสามัญจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะดำเนินการดังนี้

1. ประกาศให้หลักทรัพย์ STARK มีเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน จากการที่ส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ ตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย.2566 เป็นต้นไป พร้อมทั้งขึ้นเครื่องหมาย NC (Non-compliance)

อย่างไรก็ดี ในส่วนของการขึ้นเครื่องหมาย SP (Suspension) เพื่อสั่งห้ามซื้อหรือขายหลักทรัพย์ STARK จากกรณีที่หลักทรัพย์ STARK เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน จากเหตุส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์นั้น เนื่องจากหลักทรัพย์ STARK ได้รับอนุญาตให้สามารถซื้อขายได้เป็นการชั่วคราวในระหว่างวันที่ 1-30 มิ.ย.2566

ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะขึ้นเครื่องหมาย SP (Suspension) เพื่อสั่งห้ามซื้อหรือขายหลักทรัพย์ STARK อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2566 ไปจนกว่าบริษัทจะสามารถดำเนินการแก้ไขเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน จากเหตุส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ และดำเนินการให้บริษัทมีคุณสมบัติเพื่อกลับมาซื้อขายได้ตามปกติ

2. ให้ STARK เปิดเผยแนวทางดำเนินการแก้ไขเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน จากการที่ส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ พร้อมทั้งกำหนดเวลาของการดำเนินการดังกล่าวแก่ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนได้ทราบ ภายในวันที่ 19 ก.ค.2566

3. ให้ STARK เร่งดำเนินการแก้ไขเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน จากการที่ส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ ให้หมดไปภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ 19 มิ.ย.2566 ซึ่งหากครบกำหนดเวลาแล้ว STARK ยังไม่สามารถแก้ไขเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนดังกล่าวให้หมดไปได้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจพิจารณาดำเนินการเพิกถอนหลักทรัพย์ STARK ต่อไป

ทั้งนี้ เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เปิดให้มีการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ STARK ชั่วคราวเป็นระยะเวลา 1 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 1-30 มิ.ย.2566) หลังจากที่หลักทรัพย์ STARK ได้ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP เป็นระยะเวลาครบ 3 เดือน ด้วยเหตุที่ STARK ไม่นำส่งงบการเงินประจำปี 2565 ภายในระยะเวลาที่กำหนด ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะไม่เปิดให้มีการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ STARK อีก จากการที่หลักทรัพย์ STARK มีเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนในครั้งนี้

“ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ผู้ลงทุนใช้ความระมัดระวังในการซื้อขายหลักทรัพย์ STARK โดยศึกษารายละเอียดงบการเงินฉบับเต็ม รายงานของผู้สอบบัญชีที่ไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน สาเหตุและแนวทางจัดการของบริษัท สรุปผลการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) และข้อมูลอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับ STARK” เอกสารของตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2566 ระบุ