บล.เอเชียพลัส ชี้เป้าที่มาของเงิน 3 ช่องทาง ดันโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาทเป็นจริง

422
0
Share:
บล. เอเชีย พลัส ชี้เป้าที่มาของเงิน 3 ช่องทาง ดันโครงการ เงินดิจิทัล 10,000 บาทเป็นจริง

บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส (ASPS) เปิดเผยว่า สำหรับช่องทางการระดมเงินทุนของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน เพื่อนำไปใช้เดินหน้าโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทนั้น คาดการณ์แหล่งที่มาของเงินจาก 3 ช่องทาง ประกอบด้วย การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาล สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่าแหล่งที่มาของเม็ดเงินอาจมาจาก 4 แหล่ง ได้แก่ รายรับจากภาษีของรัฐบาลในปี 67 ซึ่งประมาณการว่าจะเพิ่มขึ้น 260,000 ล้านบาท การบริหารจัดการงบประมาณ และปรับสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 200,000 ล้านบาท และการจัดเก็บภาษีที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 100,000 ล้านบาท

ช่องทางต่อมา คือ การกู้เงิน จากข้อมูลในปัจจุบันถึงเดือนมิถุนายน 2566 พบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้สาธารณะที่ 61.15% ต่อจีดีพีประเทศไทย ซึ่งยังมีเพดานในการกู้เพิ่มเติมถึงระดับ 70% ต่อจีดีพีประเทศไทยตามที่กฎหมายกำหนดไว้ นั่นหมายถึงสามารถกู้เพิ่มได้อีก 1.58 ล้านล้านบาท โดยอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า ขนาดเศรษฐกิจประเทศไทยที่ระดับ 17.86 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม โดยหลักการแล้ว รัฐบาลไม่ควรกู้เต็มเพดานหนี้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้

ส่วนช่องทางสุดท้าย ได้แก่ กระทรวงการคลังอาจจะลดสัดส่วนการถือหน่วยลงทุนในกองทุนวายุภักษ์ให้กบข.-ประกันสังคม ฝ่ายวิจัยฯ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส คาดการณ์ว่าช่องทางนี้สามารถทำได้ โดยเป็นเงินระยะสั้นและมีปริมาณมาก ซึ่งจะมีผลต่อตลาดหุ้นให้ได้รับผลกระทบจากความผันผวนจากประเด็นดังกล่าวจำกัด กองทุนวายุภักษ์เป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่สุดในประเทศไทย มีมูลค่าพอร์ตการลงทุนอยู่ที่ 347,000 ล้านบาท เพื่อรองรับเงินที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายได้พอสมควร

สำหรับกองทุนประกันสังคมมีเงินในพอร์ตลงทุนเมื่อสิ้นปี 2565 ที่ 2.27 ล้านล้านบาท เป็นสัดส่วนหุ้นไทย 11.05% หรือ 251,000 ล้านบาท ด้านกบข. มีเงินในพอร์ตลงทุนสิ้นเดือนมิ.ย. 2566 ที่ 4.65 ล้านล้านบาท เป็นสัดส่วนหุ้นไทย 4.28% หรือ 20,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่ากองทุนกบข.-ประกันสังคมมีขนาดใหญ่พอและน่าจะรองรับการขายหุ้นของกองทุนวายุภักษ์ทำให้ได้เงินมาพอสมควร

ทั้งนี้ หากรวมมูลค่าเงินจากการคาดการณ์แหล่งเงินทั้ง 3 ช่องทางที่บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส ตามข้างต้น จะมีมูลค่างบสูงกว่า 2 ล้านล้านบาท ในขณะที่ โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเลท 10,000 บาท คาดว่าจะใช้เงินราวกว่า 500,000 ล้านบาท