บอร์ดแข่งขันการค้าเปิดช่องร้องเรียนควบรวมกิจการซีพีกับโลตัส

584
0
Share:
ซีพี

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาศึกษาผลกระทบ กรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรู กับดีแทค และการค้าปลีก-ค้าส่ง ได้เชิญ กขค. ไปสอบถามในหลายประเด็น โดยการควบรวมระหว่างซีพีกับโลตัส ได้สอบถามถึงความคืบหน้าการกำกับดูแลการปฏิบัติตามเงื่อนไข 7 ข้อของการอนุญาตให้ซีพีควบรวมโลตัส และยังเสนอให้ กขค.เปิดช่องทางการร้องเรียนจากประชาชน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข 7 ข้อ เพื่อให้ กขค.มีข้อมูลในการนำไปตรวจสอบ โดยปัจจุบันคดีซีพีควบรวมโลตัส อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

“กมธ. ยังแสดงความเป็นห่วงธุรกิจค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อในปัจจุบัน ที่ไม่ใช่เป็นเพียงร้านจำหน่ายสินค้า แต่มีเรื่องการทำธุรกรรมทางการเงิน ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีผลต่อการกำกับดูแลแลภายใต้ กขค. ในเชิงกฎหมายหรือไม่ และขอให้ กขค.พิจารณาอย่างรอบคอบ และ กมธ.ยังให้ความสนใจเงื่อนไขห้ามเทสโก้โลตัสเปลี่ยนสัญญากับซัพพลายเออร์ 2 ปี โดยกังวลว่าสัญญาดังกล่าวจะมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ จึงได้ชี้แจงว่า การรวมนี้เป็นการปรับปรุงโครงสร้างภายใน เพราะแม็คโครเป็นของซีพีอยู่แล้ว”สำหรับการควบรวมระหว่าง 2 ค่ายมือถือ กมธ.ได้สอบถามในหลายประเด็น โดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ของ กขค.ในการกำกับดูแลการรวมธุรกิจ ก็ได้ชี้แจงว่า การรวมธุรกิจระหว่างทรู กับดีแทค เป็นอำนาจของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการที่จะดูแลการควบรวมธุรกิจ กขค.ไม่สามารถก้าวล่วงได้ เพราะ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 กำหนดว่า หากหน่วยงานใดมีกฎหมายเฉพาะ ต้องให้หน่วยงานนั้นเป็นผู้ดูแล แม้ กขค.ไม่มีอำนาจโดยตรง แต่ กขค.ได้ศึกษารูปแบบ โครงสร้างธุรกิจ สัดส่วนตลาด ส่วนแบ่งการตลาด ในธุรกิจโทรคมนาคม เพราะปัจจุบันธุรกิจดังกล่าวมีการพัฒนาไปมาก ทั้งเรื่องเสาส่ง การรับสัมปทาน การซื้อคลื่นความถี่