บังคับแบงก์ส่งข้อมูลฝาก-โอนเงินเกินปีละ 3 พันครั้ง

785
0
Share:

ภายหลังราชกิจจานุเบกษา ประกาศกฎกระทรวง ฉบับที่ 355 (พ.ศ. 2562) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะของกระทรวงการคลัง กำหนดให้สถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินของรัฐ และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีมันนี่ มีหน้าที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะในปีที่ล่วงมา ต่อกรมสรรพากร ภายในวันที่ 31 มี.ค.ของทุกปี เริ่มครั้งแรก มี.ค.2563 เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากร
.
โดยกฎกระทรวงดังกล่าวมีรายละเอียดการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ ที่มีการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป // หรือมีการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้งและมียอดเงินรวมกันตั้งแต่ 2,000,000 บาทขึ้นไป ที่ต้องรายงานและวิธีการรายงานตามกฎกระทรวงตามมาตรา 3 สัตตรสแห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
.
ดังนั้นทางธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินของรัฐ และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีมันนี่ จะต้องรายงานข้อมูล 1. เลขประจำตัวประชาชน เลขที่หนังสือเดินทาง เลขทะเบียนนิติบุคคล เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร หรือสิ่งอื่นที่ใช้ในการระบุตัวบุคคลของบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ // 2. ชื่อ-สกุลของบุคคลธรรมดา ชื่อของห้างหุ้นส่วนสามัญ ชื่อของคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือชื่อนิติบุคคล // 3. จำนวนครั้งของการฝาก หรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกัน // 4. จำนวนเงินที่ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกัน และ 5. เลขที่บัญชีทุกบัญชีที่มีการฝากหรือรับโอนเงิน
.
โดยตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค. เป็นต้นไป ผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลต้องรายงานข้อมูลการฝากหรือรับโอนเงินของบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะของปี 2562 เป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 24-31 ธ.ค. 2562 ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2563 โดยกำหนดให้นำส่งข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะข้างต้นตามรูปแบบข้อมูล และมีฟิลด์ข้อมูล ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด และอาจดำเนินการจัดทำและนำส่งเป็นภาษาอังกฤษ หรือด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้