บาทผันผวน! นักวิเคราะห์เตือนเงินบาทแกว่ง อยู่ในโซนแข็งค่า ตลาดจับตาเศรษฐกิจสหรัฐฯ

140
0
Share:
บาทผันผวน! นักวิเคราะห์เตือน เงินบาท แกว่ง อยู่ในโซนแข็งค่า ตลาดจับตาเศรษฐกิจสหรัฐฯ

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 35.97 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.90-36.10 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ และประเมินกรอบเงินบาท 35.80-36.30 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 35.84-36.03 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ในช่วงตลาดกังวลสถานการณ์สงครามที่ร้อนแรงขึ้น อย่างไรก็ดี เงินบาทยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังสามารถรีบาวด์กลับมาแกว่งตัวในโซน 1,990 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท มองว่าเงินบาท รวมถึงสกุลเงินฝั่งเอเชียโดยรวม อาจยังพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าอยู่บ้าง จากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน (รอลุ้นว่านักลงทุนต่างชาติจะเดินหน้าซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยหรือไม่) ทว่าเงินบาทก็อาจไม่ได้แข็งค่าขึ้นไปมาก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในคืนนี้ ทำให้หากเงินบาทมีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนก็อาจต้องเป็นช่วงหลังตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว

ทำให้ยังคงประเมินว่าในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เงินบาทอาจติดโซนแนวรับสำคัญแถว 35.80-35.90 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนที่ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอจังหวะเข้าซื้อเงินดอลลาร์ (รวมถึงเงินเยนญี่ปุ่น) หรือทยอยขายทำกำไรสถานะ Short USDTHB (มองเงินบาทแข็งค่า) ส่วนโซนแนวต้านของเงินบาทก็อาจยังเป็นโซน 36.05-36.10 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงินในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ ข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ (ราว 19.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย) จนไปถึงดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ (ราว 21.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) โดยความเสี่ยงสำคัญ คือหากรายงานข้อมูลดังกล่าวออกมาดีกว่าคาด และสะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง ก็อาจหนุนให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นได้ไม่ยาก

กดดันให้เงินบาทเสี่ยงที่จะอ่อนค่าทดสอบแนวต้านสำคัญแถว 36.30 บาทต่อดอลลาร์ (หากผ่านได้จะเจอโซน 36.50-36.60 บาทต่อดอลลาร์) ในทางกลับกัน หากข้อมูลดังกล่าวออกมาตามคาด หรือแย่กว่าคาด ก็อาจทำให้ เงินดอลลาร์ย่อตัวลงต่อได้บ้าง แต่อาจไม่ได้ย่อตัวลงแรงหนัก ทำให้เงินบาทสามารถแข็งค่าทดสอบโซนแนวรับแถว 35.80 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งจะมีโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวรับสำคัญถัดไป